คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำเลยอุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองไม่ถึง 20 กรัม ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด โดยต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ดังนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำนวน 65 เม็ด คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 2.595 กรัม ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถอดเสื้อแจกเกตของจำเลยวางไว้ที่เก้าอี้นั่งในร้านคาราโอเกะ แล้วเดินออกจากร้านโดยลืมเสื้อไว้ในร้าน จำเลยจึงเดินกลับมาที่ร้านสอบถามเจ้าของร้านปรากฏว่ามีเสื้อแจกเกตอยู่ตัวเดียว จำเลยหยิบมาสวมใส่โดยไม่รู้ว่าเป็นเสื้อของผู้อื่นซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องอยู่ในกระเป๋าเสื้อ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 65 เม้ด น้ำหนัก 5.76 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.595 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยมีอาวุธปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. (พาราเบลลั่ม) 1 กระบอก เครื่องหมายทะเบียน กท.3210351 ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. อันเป็นอาวุธปืน 1 ซอง และกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. 14 นัด โดยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้และเป็นของจ่าสิบตำรวจสุรพล ถนอมวงศ์ ที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในเขตตำบลนครปฐม อันเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปได้ และไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะต้องมีอาวุธปืนติดตัว ทั้งจำเลยไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1787/2546 และหมายเลขแดงที่ 1569/2546 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุก 9 ปี และปรับ 700,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี และปรับ 700,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 466,666.66 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1787/2546 และหมายเลขแดงที่ 1569/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มีคำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 65 เม็ด น้ำหนัก 5.76 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.595 กรัม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำเลยอุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองไม่ถึง 20 กรัม ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด โดยต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ดังนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำนวน 65 เม็ด คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 2.595 กรัม ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถอดเสื้อแจกเกตของจำเลยวางไว้ที่เก้าอี้นั่งในร้านคาราโอเกะ แล้วเดินออกจากร้านโดยลืมเสื้อไว้ในร้าน จำเลยจึงเดินกลับมาที่ร้านสอบถามเจ้าของร้านปรากฏว่ามีเสื้อแจกเกตอยู่ตัวเดียว จำเลยหยิบมาสวมใส่โดยไม่รู้ว่าเป็นเสื้อของผู้อื่นซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องอยู่ในกระเป๋าเสื้อ จึงเป็นการที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share