คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาล จำเลยที่ 4 เพิ่งมายื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจำเลยที่ 4 จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 4 จะสามารถยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 4 หาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาได้เพียงบางส่วนและจะนำค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือมาวางภายใน 30 วัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบ กรณีเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 220,035.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 219,251.36 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 739,483.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 655,617.98 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 185,746.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 739,483.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 649,367.98 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 กรกฎาคม 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาวางภายใน 15 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งฟ้อง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2546 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนจำนวน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 27,675 บาท จะนำมาวางภายใน 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ต่อมาจำเลยที่ 4 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ค่าคำร้องให้เป็นพับ และยกอุทธณณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งศาลคำร้องของจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2546 อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด จำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาล จำเลยที่ 4 เพิ่งมายื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 4 ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดเวลา คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 4 จะสามารถยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 4 หาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาได้เพียงบางส่วนและจะนำค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือมาวางภายใน 30 วัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว กรณีเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และเป็นข้อกฎฆมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share