แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ขนส่ง กระทำการโดยทุจริต โดยร่วมกับคนร้ายเพื่อจะนำรถยนต์นั้นไปหลอกขายให้แก่ผู้อื่นหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือเอกสารปลอม และรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวทั้งสองคราว เห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้งสิ้นไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หากเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีต้องด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ โจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ได้เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ คงฟ้องได้แต่จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 สังกัดอยู่นั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใดและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,214,094.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,937,634.80 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การว่า นายบุญชัย ติดต่อให้จำเลยที่ 5 นำรถยนต์ตามฟ้องไปขาย โดยแจ้งว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นายบุญชัยนำมาขายเพราะอยากเปลี่ยนรถคันใหม่ โดยจะให้ค่านายหน้าแก่จำเลยที่ 5 ต่อมาโจทก์โทรศัพท์ติดต่อขอดูรถ แล้วตกลงซื้อในราคา 2,750,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้แก่จำเลยที่ 3 จำนวน 250,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 2,500,000 บาท โจทก์โอนเงินให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้นำเงินที่โจทก์ชำระดังกล่าวมอบให้นายบุญชัยไปแล้ว โดยจำเลยที่ 5 ได้รับค่านายหน้าเพียงเล็กน้อย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 นายบุญชัยเป็นผู้ดำเนินการขอจดทะเบียนโอนเปลี่ยนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถ การซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวเป็นการส่งมอบทรัพย์และทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว การซื้อขายดังกล่าวจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ทราบมาก่อนหรือไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการยกเลิกการจดทะเบียน และมิได้ปกปิดข้อความจริง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ค่าตรวจซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ เคลือบสี ล้างพรม และทำกุญแจรีโมทที่โจทก์ขอมานั้นเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกสบาย และรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของโจทก์เอง โจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่เคยมีข้อตกลงว่าจะต้องรับผิดต่อกัน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกได้ ถึงแม้จะเสียหายก็ไม่เกิน 5,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องเรียกค่าละเมิดได้แล้ว ก็ไม่อาจที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้กระทำละเมิดและไม่มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ และไม่ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ในการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าว และในการจดทะเบียนโอนรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของโจทก์นั้น จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ได้รับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวโดยตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกประการและทำการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวไปตามกฎหมาย โดยได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วไม่พบข้อพิรุธ จึงได้จดทะเบียนให้เพราะมีหลักฐานการซื้อขายและได้ทำการเสียภาษีแล้ว หลักฐานหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์ก็ชัดเจนไม่มีพิรุธ การกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เรื่องที่รถยนต์ของโจทก์ถูกยึดเป็นผลมาจากตัวทรัพย์คือรถยนต์คันดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เกิดจากการยกเลิกการจดทะเบียนของนายทะเบียนกรุงเทพมหานครไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 2,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่า รถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ รุ่นเอส 320 แอล สีน้ำตาล หมายเลขประจำตัวถังดับบลิวดีบี 140033 – 2 เอ – 203905 หมายเลขประจำเครื่องยนต์ 104994 – 22 – 023402 ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 2 อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ขอจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถใหม่ ตามคำขอจดทะเบียนรถเอกสารหมาย ล.10 โดยแนบหลักฐานประกอบคำขอได้แก่ หนังสือแจ้งจำหน่ายและใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีของบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.9 แต่หนังสือแจ้งจำหน่ายและใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 เป็นเอกสารปลอม รวมทั้งมีการปลอมลายมือชื่อของนางชลธิชา เจ้าหน้าที่ขนส่ง ซึ่งตามปกติเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานของรถที่ขอจดทะเบียนกับบัญชีรับและจำหน่ายรถรับรองว่าตรวจสอบหลักฐานบัญชีรับและจำหน่ายรถแล้วถูกต้อง จำเลยที่ 6 เจ้าหน้าที่ขนส่งเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องราวคำขอดังกล่าวเสนอให้จำเลยที่ 7 เจ้าหน้าที่ขนส่งที่ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้ได้หมายเลขทะเบียน พว 8706 กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 1 ฝากให้ขายในราคา 2,750,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันดังกล่าว 250,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 2,500,000 บาท โจทก์ชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง ในวันเดียวกัน และในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 มีการขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 8 เจ้าหน้าที่ขนส่งเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องราวคำขอเสนอให้จำเลยที่ 9 เจ้าหน้าที่ขนส่งผู้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนกรุงเทพมหานครจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถ ตามคำขอโอนและหลักฐานประกอบการโอนเอกสารหมาย ล.11 ถึง ล.14 ต่อมาเดือนธันวาคม 2540 นายทะเบียนกรุงเทพมหานครพบพิรุธข้อสงสัยจึงตรวจสอบจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ปรากฏว่านอกจากรถยนต์คันดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์อีก 8 คัน ได้มีการจดทะเบียนรถใหม่ในลักษณะเดียวกัน ความจริงรถทั้งเก้าคันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้เสียภาษีศุลกากรและบริษัทดังกล่าวมิได้นำเข้ามาตามหนังสือของนายทะเบียนและกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.15 และ ล.16 นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก จึงประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์ทั้งเก้าคันดังกล่าว ตามประกาศยกเลิกการจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.17 ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 10 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ขนส่งกระทำการโดยทุจริตร่วมกับคนร้ายเพื่อจะนำรถยนต์นั้นไปหลอกขายให้แก่ผู้อื่นหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือเป็นเอกสารปลอม และรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวทั้งสองคราว เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หากเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีต้องด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ได้เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
ฎีกาของโจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่ง คงฟ้องได้แต่จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 สังกัดอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มรตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ