แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังจะแย่งมีดจากจำเลย และเมื่อได้ความว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงมากนักจึงเชื่อว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่รุนแรง ประกอบกับไม่ได้ความว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสเท่านั้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจำเลยมีปากเสียงทะเลาะกับผู้เสียหายและพวกผู้เสียหายแล้ว จำเลยได้ขับรถยนต์ออกไปและกลับมาใหม่พร้อมด้วยอาวุธมีดของกลางและตรงเข้ามาทำร้ายผู้เสียหายเช่นนี้ จำเลยย่อมมีเวลาคิดไตร่ตรองและตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 80, 288, 289 (4), 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายเล็กผู้เสียหายยื่นคำร้อง ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 120,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธมีด ปรับ 90 บาท คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธมีด ปรับ 60 บาท รวมจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 60 บาท จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดของกลาง สำหรับในคดีส่วนแพ่ง ให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่เสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้าน ฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ศีรษะจากอาวุธมีดของจำเลยเป็นอันตรายสาหัส ตามผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.2 ภายหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธมีดดังกล่าวเป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายสมพงษ์ และนายปรีชา เป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องกันว่า ขณะผู้เสียหายกำลังนั่งดื่มสุรา จำเลยเดินเข้ามาข้างหลังผู้เสียหายหันไปมองจำเลย จำเลยใช้สองมือถืออาวุธมีดของกลางยกขึ้นสุดมือแล้วฟันลงที่ศีรษะผู้เสียหายจนผู้เสียหายเป็นลมฟุบไป อันเป็นลักษณะของการถูกทำร้ายที่ไม่ทันได้ระวังตัว แต่ในชั้นสอบสวน พยานโจทก์ทั้งสามปากกลับให้การถึงข้อเท็จจริงขณะเกิดเหตุตอนนี้สอดคล้องกันว่า ผู้เสียหายเห็นจำเลยเดินถืออาวุธมีดเข้ามาหา จึงลุกจากม้านั่งเดินไปหาจำเลยเพื่อพยายามจับมีดไม่ให้จำเลยใช้ฟันผู้เสียหายจึงถูกจำเลยใช้มีดดังกล่าวฟันที่ศีรษะ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7, จ.9 และ จ.10 อันเป็นลักษณะของการถูกทำร้ายที่ผู้เสียหายรู้ตัวก่อน แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่อึดใจ แต่ทำให้ผู้เสียหายมีเวลาป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ได้พอสมควร ดังจะเห็นว่าผู้เสียหายให้การว่าผู้เสียหายเดินเข้าไปหาจำเลยเพื่อพยายามจับมีด แต่ไม่ทันท่วงทีทำให้ถูกจำเลยใช้อาวุธมีดฟันได้ ซึ่งการถูกจำเลยฟันในลักษณะเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยไม่มีโอกาสฟันได้ถนัดนัก เพราะผู้เสียหายพยายามจับมีดของจำเลย อันเป็นการพยายามป้องกันตนเอง และเมื่อพิจารณาถึงบาดแผลของผู้เสียหายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.2 คงตรวจพบบาดแผลเป็นรอยยาว 15 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ และพบรอยแตกตรงกะโหลกศีรษะเท่านั้น ไม่ปรากฏขนาดความลึกของกะโหลกศีรษะ และไม่ปรากฏว่าลึกถึงมันสมองหรือไม่ อันจะเป็นการบ่งบอกหรือแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการกระทำได้ และตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าว ไม่พบการรักษาด้วยวิธีใดแต่จากภาพถ่ายบาดแผลที่ศีรษะของผู้เสียหาย เอกสารหมาย จ.4 กลับพบรอยเย็บแผลบนศีรษะ จึงเป็นไปได้ที่การรักษาบาดแผลของผู้เสียหายคงมีแต่การเย็บแผลเข้าด้วยกันเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าต้องเป็นบาดแผลที่ไม่ลึกมากนัก มิฉะนั้นคงต้องใช้วิธีรักษาที่มากกว่านี้ อาทิเช่นการผ่าตัด แม้ผู้เสียหายเบิกความว่าตนได้รักษาแผลและอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลา 10 วัน จึงกลับบ้านได้ แต่พันตำรวจโทสิงห์ลำพอง พนักงานสอบสวนเบิกความว่า พยานสอบปากคำผู้เสียหายที่บ้านของผู้เสียหายในวันที่ 21 สิงหาคม 2540 และตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 ก็ระบุว่าบันทึกคำให้การวันที่ 21 สิงหาคม 2546 จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่เกิน 5 วันเท่านั้น ย่อมแสดงว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงมากนักพยานโจทก์ทั้งสามให้การในชั้นสอบสวนใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น และไม่ปรากฏวาพยานโจทก์ทั้งสามโต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของบันทึกคำให้การดังกล่าว อีกทั้งพันตำรวจโทสิงห์ลำพอง พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำพยานโจทก์ทั้งสามก็เบิกความยืนยันว่าพยานโจทก์ทั้งสามให้การเช่นนั้นจริง บันทึกคำให้การของพยานโจทก์ทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.7, จ.9, จ.10 จึงรับฟังเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามในชั้นพิจารณา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังจะแย่งมีดจากจำเลย และเมื่อได้ความว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงมากนัก จึงเชื่อว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่รุนแรง ประกอบกับไม่ได้ความว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสเท่านั้น ปัญหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจำเลยมีปากเสียงทะเลาะกับผู้เสียหายและพวกผู้เสียหายแล้ว จำเลยได้ขับรถยนต์ออกไปและกลับมาใหม่พร้อมด้วยอาวุธมีดของกลางและตรงเข้ามาทำร้ายผู้เสียหายเช่นนี้ จำเลยย่อมมีเวลาคิดไตร่ตรองและตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 298 จำคุก 8 ปี ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 60 บาท ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1