คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทน จำเลยย่อมต้องเล็งเห็นแล้วว่าหากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 100 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย 100 บาท แล้ว เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2546 เวลา 21 นาฬิกาเศษ มีคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันนายสยาม ผู้เสียหาย ที่บริเวณไหล่ขวาได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ตามผลการชันสูตรบาดแผล เอกสารหมาย จ. 8 เหตุเกิดที่ถนนสาธารณะบริเวณหน้าร้านค้าในหมู่ที่ 3 ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ผู้เสียหายและจำเลยอยู่ตำบลเดียวกันแต่คนละหมู่ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจขอออกหมายจับจำเลย และจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ตามหมายจับ บันทึกการจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 1, จ. 2 และ จ. 10 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายนั่งรับประทานขนมอยู่ บริเวณหน้าร้านค้ากับนายวินัย มีชายวัยรุ่น 2 คน ขับรถจักรยานยนต์มา 1 คัน คนขับไม่ทราบชื่อ คนซ้อนท้ายชื่อนายมง ไม่ทราบชื่อจริง อายุมากกว่าผู้เสียหายหลายปี นายมงเข้ามาหาเรื่องโต้เถียงกับนายวินัย ไม่นานก็ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกไป หลังจากนั้นสักครู่ มีชายวัยรุ่นประมาณ 7 คน ถึง 8 คน ขับรถจักรยานยนต์มาจอดไว้หน้าร้านวัสดุก่อสร้าง ห่างจากที่ผู้เสียหายนั่งประมาณ 100 เมตร แล้วเดินตรงมาหาผู้เสียหายและนายวินัย มีจำเลยซึ่งผู้เสียหายรู้จักมาก่อนแต่ไม่สนิทรวมอยู่ด้วย จำเลยถือมีดสปาต้าปลายตัดยาวประมาณ 1 ช่วงแขน จำเลยเข้ามาถามว่า หยามอยู่ที่ไหน โดยหันหน้าไปทางวินัย เพื่อนของจำเลยคนอื่นเดินอยู่รอบไม่ได้ถืออาวุธอะไร นายวินัยพูดกับจำเลย 1 ประโยค แต่ผู้เสียหายไม่ได้ยิน หลังจากนั้นจำเลยวิ่งเข้ามาหาผู้เสียหาย ยกมีดขึ้นจะฟัน ผู้เสียหายจึงหันหลังวิ่งหนีขณะนั้นนายวินัยหนีออกไปก่อนแล้ว ผู้เสียหายวิ่งไปได้เพียงก้าวเดียวก็ถูกฟันที่ไหล่ขวาผู้เสียหายหันกลับไปดูเห็นจำเลยเงื้อมีดจะฟันอีก จึงวิ่งไปทางบ้านนายบุญชูซึ่งไปทางเดียวกันกับบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายวิ่งไปหมดสติที่บ้านนายบุญชู ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะจากบ้านเรือนชาวบ้านและร้านค้า สามารถมองเห็นหน้ากันได้อย่างชัดเจน ผู้เสียหายมารู้สึกตัวที่โรงพยาบาลจัตุรัส โดยบิดาของผู้เสียหายเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล แพทย์แจ้งว่าไม่สามารถเย็บแผลได้เนื่องจากแผลลึก จึงส่งผู้เสียหายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลชัยภูมิ แพทย์เย็บแผล 2 ชั้น ด้านนอกเย็บ 11 เข็ม หลังจากเย็บแผลแล้วให้ผู้เสียหายกลับบ้าน ผู้เสียหายรักษาประมาณ 1 เดือนเศษ แผลจึงหาย แต่ผู้เสียหายไม่สามารถยกแขนหรือใช้แขนได้ตามปกติต้องใช้เวลา 1 ปีเศษ จึงใช้ได้ตามปกติ หลังเกิดเหตุ 1 ถึง 2 วัน เจ้าพนักงานตำรวจมาสอบปากคำผู้เสียหายที่บ้าน ผู้เสียหายแจ้งว่าผู้ที่ฟันผู้เสียหายคือจำเลย ผู้เสียหายไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงฟันผู้เสียหาย แต่คุ้มบ้านของผู้เสียหายเรียกว่าคุ้มในบ้าน ไม่ค่อยถูกกับคุ้มบ้านของจำเลยที่เรียกว่าคุ้มหลับสิบ แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ภาพร่างอาวุธมีดที่จำเลยใช้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 6 และ จ. 7 และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยกับพวกไม่มีผู้ใดสวมหมวก ผู้เสียหายเล่าให้บิดามารดาฟังว่าใครเป็นคนทำร้ายผู้เสียหายในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้โจทก์มีนายวินัยเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันกับผู้เสียหาย แต่นายวินัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า กลุ่มคนที่เดินมานั้นบางคนสวมหมวก ส่วนจำเลยสวมหมวกไหมพรมพับครึ่งคลุมเฉพาะศีรษะสามารถมองเห็นหน้าได้ชัดเจน นายสมาน เบิกความเป็นพยานว่าคืนเกิดเหตุ เวลา 20 ถึง 21 นาฬิกา ขณะที่พยานกำลังหาคนงานเพื่อไปดายหญ้าบริเวณตรงข้ามร้านค้าของนางคำพันธ์ โดยพยานอยู่ที่บ้านนายสิงห์ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ได้ยินเสียงคนตะโกนว่า ฆ่ามัน ๆ มาจากบริเวณที่เกิดเหตุ มองไปเห็นผู้เสียหายซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับบ้านพยานกำลังวิ่งมา โดยมีกลุ่มคนประมาณ 20 คนวิ่งไล่ตาม มีคนถือมีดคนเดียว นอกนั้นบางคนถือไม้ ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 5 เมตร เมื่อผู้เสียหายวิ่งมาใกล้ถึงพยาน พยานจึงถามกลุ่มคนที่ไล่ตามมาว่า ทำอะไรกัน พยานได้ยินกลุ่มคนดังกล่าวพูดว่า สลายตัว แล้วแยกย้ายกันหลบหนี เมื่อพยานพบว่าผู้เสียหายถูกฟันที่บริเวณไหล่ขวา จึงรีบหารถนำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาล มีนายสาคร บิดาผู้เสียหาย และนายวินัย เพื่อนผู้เสียหายไปด้วยที่เกิดเหตุมีไฟฟ้าสาธารณะสามารถมองเห็นได้ แต่พยานไม่ได้สังเกตใบหน้าของผู้ที่วิ่งไล่ตามผู้เสียหาย และพันตำรวจโทสุชาติ เชิงชั้น พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2546 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา มีนายสาคร บิดาผู้เสียหายมาแจ้งความต่อพยานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2546 เวลา 21.30 นาฬิกา เพื่อนผู้เสียหายมาบอกนายสาครว่าผู้เสียหายถูกฟัน ต่อมาผู้เสียหายบอกนายสาครว่าคนฟันคือจำเลย พยานออกไปตรวจที่เกิดเหตุทำบันทึกและถ่ายรูปไว้ ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย จ. 4 และภาพถ่ายหมาย จ. 5 พยานทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ. 6 พยานให้ผู้เสียหายวาดรูปอาวุธมีดที่ใช้ฟันตามภาพร่างเอกสารหมาย จ. 7 พยานสอบปากคำนายภิญโญ แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ. 8 สาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายเป็นเรื่องโกรธเคืองกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 10 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองอย่างใดกับจำเลยเป็นส่วนตัวมาก่อน คงไม่กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือเบิกความปรักปรำจำเลย แม้เหตุเกิดในเวลากลางคืน แต่ภาพถ่ายหมาย จ. 5 และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ. 6 แสดงให้เห็นว่าในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะที่เสาไฟฟ้าและบ้านเรือนชาวบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายและนายวินัยรู้จักกับจำเลยมาก่อนเนื่องจากอยู่ตำบลเดียวกัน จำเลยเข้ามาฟันผู้เสียหายจึงอยู่ใกล้กับผู้เสียหายและใกล้กับนายวินัย เชื่อว่าบุคคลทั้งสองเห็นจำเลยและจดจำได้ ทั้งผู้เสียหายและนายวินัยสามารถแจ้งให้บิดามารดาของผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนทราบว่าจำเลยเป็นคนฟันผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับและจับจำเลยได้ในเวลาต่อมา การที่นายวินัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจำเลยสวมหมวกไหมพรม แตกต่างจากผู้เสียหายที่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่มีผู้ใดสวมหมวกนั้น เห็นว่านายวินัยมีพฤติการณ์ขัดหมายเรียกไม่ยอมมาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับ ต่อมานายวินัยถูกจับตามหมายจับและต้องทำสัญญาประกัน จึงส่อว่านายวินัยอาจเบิกความแตกต่างในจุดนี้เพื่อช่วยเหลือจำเลยก็ได้ จึงไม่ควรรับฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย นอกจากนี้จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปนั่งเล่นกับเพื่อนที่ร้านค้าในบ้านหนองบัวบานตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาเศษ จนถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา มีเจ้าพนักงานตำรวจมาตามจับกุมจำเลยกับพวกโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเลยกับพวกจึงพากันวิ่งหนี จำเลยวิ่งหนีเข้าบ้านแล้วไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2547 จำเลยกลับบ้าน และถูกจับในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ขณะเดินทางไปช่วยงานบวชที่บ้านหนองม่วง ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 10 แต่จำเลยกลับนำสืบว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปนั่งเล่นกับเพื่อนที่สนามบาสเกตบอลตั้งแต่เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา จึงเข้าบ้าน และไม่ได้ออกไปไหนอีก แตกต่างกันเป็นพิรุธ และจากบันทึกคำให้การของจำเลยดังกล่าวยังแสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีด้วย พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหาย สาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายน่าจะเกิดจากเรื่องโกรธเคืองไม่ถูกกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขน ฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทนหลังจากฟันครั้งแรกแล้ว จำเลยกับพวกยังไล่ตามฟันผู้เสียหายโดยมีผู้ร้องว่า ฆ่ามัน ๆ แต่นายสมานออกมาพบและตะโกนถามว่าทำอะไรเสียก่อน จำเลยกับพวกกลัวว่าจะมีผู้พบเห็น จึงร้องบอกกันให้สลายตัว แล้วแยกย้ายกันหลบหนีไป แม้นายภิญโญจะให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า บาดแผลของผู้เสียหายโอกาสที่จะถึงแก่ความตายค่อนข้างน้อย ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ. 8 ก็ตาม จำเลยย่อมจะต้องเล็งเห็นแล้วว่า หากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

Share