คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5620/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุเด็กทั้งสามคนยังมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลใช้อำนาจปกครองอยู่ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่ใช่เป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง บิดามารดาของเด็กทั้งสามคนมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวันจึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามคนเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพัง ตามประสาเด็กเท่านั้น แต่ก็ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามคนอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของเด็กทั้งสามคน จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร และการที่จำเลยทั้งสองนำเด็กทั้งสามคนแต่งกายเป็นสามเณรออกเที่ยวแจกซองผ้าป่า เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน อันเป็นการใช้เด็กทั้งสามคนและศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพของจำเลยทั้งสอง ทำให้ศาสนาต้องมัวหมองและเป็นที่เสื่อมศรัทธาแก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 317 มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจการปกครองของบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลของผู้เยาว์ ไม่ให้ถูกผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล ฉะนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะพูดชักชวนและพาเด็กทั้งสามคนไปในครั้งเดียวคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายและบิดามารดา ผู้ปกครองหรือดูแลของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 317, 341, 343 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 18 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 ปี ส่วนข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดในข้อหาร่วมกันพรากเด็กชายพรชัยหรือแฝด และข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กชายชัยรัตน์ อายุประมาณ 8 ปี เด็กชายอำนวย อายุ 14 ปีเศษ และเด็กชายอาวุธ อายุ 12 ปี อันเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรหรือไม่ และการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน สำหรับปัญหาในประการแรก ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาโต้แย้ง ฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองได้พาเด็กชายทั้งสามคนกับเด็กชายพรชัยรวม 4 คน ขับรถจากตลาดเทศบาลจังหวัดชัยนาท พาไปที่บ้านจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาทำนองว่า เด็กทั้งสี่คนแต่งกายมอมแมมไม่มีบิดามารดาอบรมดูแลและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ลักษณะเป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน เข้ามาขอเงินจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงเห็นว่าหากปล่อยให้เด็กทั้งสี่ดำรงชีพเช่นเด็กขอทานต่อไปแล้ว อาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพและจิตใจของเด็ก และเป็นปัญหาต่อสังคมได้ จึงชักชวนเด็กทั้งสี่ให้ไปทำงานบ้านที่บ้านจำเลยทั้งสองโดยจะให้ค่าจ้างวันละ 100 บาท ซึ่งเด็กทั้งสี่ตกลงไปด้วย จำเลยทั้งสองจึงพาเด็กทั้งสี่ขึ้นรถพาไปที่บ้านจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้งสี่ได้ จึงพาไปบวชเป็นเณรแล้วพาไปอยู่กับพระที่สำนักสงฆ์เขาพานทอง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยทั้งสองจึงไม่มีเจตนาหลอกลวงพรากเด็กทั้งสี่คนไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นความผิดนั้น ปัญหามีว่า เด็กชายชัยรัตน์ เด็กชายอำนวย และเด็กชายอาวุธ เป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน ที่บิดามารดาทอดทิ้งไม่ปกครองดูแลไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จริงตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายระพิน บิดาของเด็กชายชัยรัตน์ และนางเล็ก มารดาของเด็กชายอำนวยและเป็นป้าของเด็กชายอาวุธ มาเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุเด็กทั้งสามพักอาศัยอยู่กับพยาน ในวันเกิดเหตุเด็กทั้งสามคนออกไปเที่ยวเตร่ตามประสาเด็ก ต่อมาตอนเย็นเด็กทั้งสามไม่กลับบ้านตามปกติ นายระพินก็ได้ออกติดตามตามบ้านเพื่อนเด็กทั้งสามคนแต่ก็ไม่พบ เพียงแต่ทราบว่าเด็กทั้งสามคนถูกคนหลอกให้ขึ้นรถไปแต่ไม่ทราบว่าไปที่ใด นายระพินก็เที่ยวถามหาตามบ้านเพื่อนของเด็กชายชัยรัตน์ ส่วนนางเล็ก ก็ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจในวันรุ่งขึ้นว่าเด็กชายอำนวยหายไปพร้อมกับเด็กชายอาวุธลูกของนางนิดน้องสาวตน ซึ่งฐานะยากจนจึงฝากลูกไว้กับตน ตามบันทึกคำให้การของนางนิด เอกสารหมาย จ.16 หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน เด็กทั้งสามคนกลับมาที่บ้าน และเล่าให้บิดามารดาฟังว่าขณะจำเลยทั้งสองหลอกว่าจะพาไปทำงานบ้านจะให้ค่าจ้างวันละ 100 บาท แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกตระเวณเรี่ยไรแจกซองทอดผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ จึงพากันหนีกลับบ้าน เมื่อทราบเช่นนั้นนายระพิน นางเล็กและนางนิดจึงได้พาเด็กทั้งสามคนเข้าแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ข้อหาพรากผู้เยาว์ ย่อมแสดงว่า ขณะเกิดเหตุเด็กทั้งสามยังมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลใช้อำนาจปกครองอยู่และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่ใช่เป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง บิดามารดาของเด็กทั้งสามคนมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวัน จึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามคนเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพัง ตามประสาเด็กเท่านั้น แต่ก็ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามอยู่ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของเด็กทั้งสามคน จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร และการที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยให้รายละเอียดว่า จำเลยทั้งสองพาเด็กทั้งสามคนไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาไปแจกซองผ้าป่าเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหาเงินบริจาคสร้างหอระฆังให้แก่สำนักสงฆ์เขาพานทอง ตามตัวอย่างซองผ้าป่าเอกสารหมาย จ.8 โดยจำเลยทั้งสองเป็นคนจัดการเงินที่รับบริจาคมาเอง แต่ต้องนำเงินส่งให้สำนักสงฆ์เขาพานทองเดือนละ 6,000 บาท ตามบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 แต่ต่อมาในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองกลับเบิกความว่า ไม่ได้จ่ายเงินให้สำนักสงฆ์ดังกล่าวเดือนละ 6,000 บาท ทุกเดือน ตามที่ให้การไว้ แต่หลวงพ่อวอน ซึ่งเป็นพระ เจ้าสำนักสงฆ์ดังกล่าวเป็นคนนำซองผ้าป่าให้จำเลยทั้งสองพาพระและเณรไปแจกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน โดยเงินที่ชาวบ้านบริจาคจะใส่ลงในตู้รับบริจาค ที่มอบให้นำติดรถไปด้วย โดยใส่กุญแจตู้ไว้ ส่วนลูกกุญแจหลวงพ่อวอนจะเก็บรักษาไว้ พอตกเย็นจำเลยทั้งสองก็จะนำตู้รับบริจาคมาส่งมอบคืนแก่หลวงพ่อวอนไปจัดการเอง โดยแต่ละวันที่จำเลยทั้งสองพาพระและเณรออกไปแจกซองผ้าป่า หลวงพ่อวอนจะจ่ายค่าน้ำมันรถให้จำเลยทั้งสอง 300 บาท และค่าอาหารอีก 200 บาท เท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากเงินที่รับบริจาคมา โดยจำเลยทั้งสองได้อ้างพระสมศักดิ์ มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การเช่นนั้น ทั้งไม่ได้อ้างพระสมศักดิ์เป็นพยานแก่จำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองเพิ่งจะมาอ้างพระสมศักดิ์เป็นพยานเพื่อกลับคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเท่านั้น แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่นำหลวงพ่อวอน มาเบิกความยืนยันสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่า จำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพโดยให้การรายละเอียดตามที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ถูกต้องตามความสัตย์จริงและด้วยความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าคำเบิกความของจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาและใช้ยันแก่จำเลยทั้งสองได้ในชั้นพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองนำเด็กทั้งสามคนแต่งกายเป็นสามเณรออกเที่ยวแจกซองผ้าป่า เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน อันเป็นการใช้เด็กทั้งสามคนและศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพของจำเลยทั้งสอง ทำให้ศาสนาต้องมัวหมองและเป็นที่เสื่อมศรัทธาแก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวเพราะกระทำในครั้งเดียวคราวเดียวกัน หรือเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจการปกครองของบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลของผู้เยาว์ ไม่ให้ถูกผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล ฉะนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะพูดชักชวนและพาเด็กทั้งสามคนไปในครั้งเดียวคราวเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายและบิดามารดา ผู้ปกครองหรือดูแลของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งไม่ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงปรับใช้กันไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองรวม 3 กระทง จึงชอบแล้วเช่นกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share