คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทกับสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความสอดคล้องตรงกัน ด้านหน้าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท มีข้อความระบุว่า ราคาเป็นจำนำ และมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ ทั้งสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก็มีรายการของตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทที่นำมาจำนำรวมอยู่ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมาจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ตามสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้จำนำไว้ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 3 สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 985 มิใช่ผู้สลักหลังที่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามตั๋วพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 2,098,356.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 98,356.16 บาท) กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่หากโจทก์บังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินและมีเงินเหลือมากกว่าหนี้จำนำต้องส่งคืนให้จำเลยที่ 3 หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 3 รับใช้ส่วนที่ขาด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2537 สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3 หรือตามคำสั่งจำนวน 2,000,000 บาท ในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ณ บริษัทจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 3 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทไปจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทก์เป็นผู้รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อตั๋วถึงกำหนด โจทก์ยื่นตั๋วให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการดำเนินกิจการ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางสาวชนัยการต์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทสัญญาว่าจะจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 2,000,000 บาท ในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รับอาวัลการใช้เงิน ต่อมาจำเลยที่ 3 สลักหลังโอนตั๋วต่อให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และบริษัทดังกล่าวได้นำมาขายลดและสลักหลังโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์นำตั๋วยื่นให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกทางราชการสั่งปิดกิจการตามหนังสือกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 3 นายทรงศักดิ์ และนางทองเฟื้อ เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 กับญาติได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าที่ดินเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินหลายฉบับรวมทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัลการใช้เงินตามตั๋ว ต่อมาจำเลยที่ 3 นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปจำนำแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินใต้ข้อความว่า “ราคาเป็นจำนำ” และทำสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) พร้อมมอบตั๋วสัญญาใช้เงินไว้แก่บริษัทเพื่อเป็นประกันตามสัญญาจำนำ จำเลยที่ 3 มิได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ เห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทกับสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความสอดคล้องตรงกัน ด้านหน้าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท มีข้อความระบุว่า ราคาเป็นจำนำและมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ ทั้งสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก็มีรายการของตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทที่นำมาจำนำรวมอยู่ด้วย พยานโจทก์จึงเจือสมกับพยานจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมาจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้จำนำไว้ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 3 สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 985 แม้โจทก์จะอ้างว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลด และโจทก์เป็นผู้ทรง ก็เป็นผู้ทรงในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่จะเรียกให้ผู้ต้องจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิด ซึ่งได้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับอาวัลเท่านั้น จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้สลักหลังเพื่อจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่ใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงมิใช่ผู้สลักหลังที่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จำนำนั้น เห็นว่า โจทก์มิใช่ผู้รับจำนำและคำพิพากษาในส่วนนี้เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share