คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ที่ชายทะเล” หมายถึง “เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด” ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนทางเดินเท้า ท่อประปา ไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ออกไปพร้อมทั้งทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิมและส่งคืนโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในปัญหาความรับผิดทางละเมิดของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกันฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเดิมเป็นที่ดินมีหลักฐานการครอบครองเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มีเนื้อที่ 2 ไร่ 90 ตารางวา ซึ่งระบุว่าด้านทิศตะวันตกจดทะเล นายขจร บิดาโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากเรือเอกเอนก มาตั้งแต่ปี 2505 ต่อมาปี 2508 นายขจรยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินได้เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ซึ่งระบุว่าด้านทิศตะวันตกจดชายทะเล ปรากฏว่ามีที่ดินงอกออกไป 1 ไร่ 1 งานเศษ ซึ่งจำเลยได้ทำทางเดินเท้า เดินสายไฟฟ้าและท่อประปา กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร ขนานริมชายทะเลตลอดแนว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่งอกตามแผนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่า ในขณะที่นายขจรนำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น นายขจรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์จริงตามคำเบิกความของนายพิทักษ์ ซึ่งถือได้ว่านายขจรได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตำหนิคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่ามีการกันที่ดินไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้ ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบและศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จึงเป็นการนำสืบและวินิจฉัยนอกคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 นั้น เห็นว่าจำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ที่ชายทะเล” หมายถึง “เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด” ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบและศาลชั้นต้นตลอดจนศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจากนายขจรเจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่ และในประการสำคัญคดีนี้โจทก์ก็ได้นำสืบโต้เถียงในประเด็นพิพาทข้อนี้แล้วดังที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่งอกริมตลิ่งที่พิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาความรับผิดทางละเมิดของจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แต่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องของโจทก์ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share