คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาความผิดส่วนตัวนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว เมื่อไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา ผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจร้องขอถอนหรือเลิกคดี.
คดีอาญาที่ไม่มีอุทธรณ์นั้น ถือว่าถึงวันที่สุดตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายสุกรโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในปริมาณและขายเกินราคา ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงและตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่า,ขายโคและสุกร ฯ จำเเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามฟ้อง แต่ให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.310 ซึ่งเป็นบทหนัก
เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว เจ้าทุกข์ยื่นคำร้องขอถอนคดีไม่ติดใจให้ศาลลงโทษจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งว่าคำร้องต้องห้ามตาม ม.190 ป.ม. วิธีพิจารณาความอาญา
ผู้เสียหายอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เสียงข้างมากพิพากษายืน แต่มีความเห็นแย้งว่าผู้เสียหายถอนคดีความผิดส่วนตัวได้
ผู้เสียหายฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของโจทก์ถ้าศาลชั้นต้นรับฟัง ศาลชั้นต้นก็จะกลับพิพากษาหรือสั่งปล่อยจำเลยไม่ได้ เพราะต้องห้ามขัดแจ้งตาม ม.190 คดีนี้โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจแลหน้าที่กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปล่อยจำเลย เพราะคดีถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาโดยที่ไม่มีการอุทธรณ์ ส่วนฎีกาที่ผู้ฎีกาอ้างเป็นเรื่องระหว่างมีการอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นไป จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง

Share