คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9216/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในตอนแรกว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเงินกู้ตามฟ้องกับบริษัท ม. จริง แต่ไม่ได้รับเงินกู้ บัญชีเงินกู้ตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์หรือบุคคลอื่นทำขึ้นเอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องและเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง ส่วนตามคำให้การในตอนหลังที่ว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ม. เรื่อยมา แต่บริษัท ม. ถูกปิดกิจการ ทำให้ไม่สามารถติดต่อชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ผิดนัดชำระหนี้ และหากโจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิและเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิเรียกร้องได้ไม่เกินจำนวนที่โจทก์รับช่วงสิทธิมานั้น มิใช่เป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินกู้ตามฟ้องจากบริษัท ม. จึงมิใช่คำให้การที่ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธฟ้องของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง และมีประเด็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะนำสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,002,534.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุน โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด มอบอำนาจให้บริษัทรีเทล รีคอฟเวอรี่ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทน และให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ บริษัทรีเทล รีคอฟเวอรี่ แมเนจเม้นท์ จำกัด แต่งตั้งให้นายวิชิตเป็นตัวแทนช่วงดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงต่อไปได้ นายวิชิตแต่งตั้งให้นายปิยศักดิ์หรือนางกชมนพรเป็นตัวแทนช่วงดำเนินคดีนี้แทน จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเงินกู้ และในหนังสือขอรับเงินกู้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในตอนหลังที่ว่า หากศาลฟังว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด (มหาชน) เรื่อยมา แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวถูกปิดกิจการทำให้ไม่สามารถติดต่อชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ผิดนัดชำระหนี้ และหากโจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิและเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ก็จะมีสิทธิเรียกร้องได้ไม่เกินจำนวนที่โจทก์รับช่วงสิทธิมา ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 800,000 บาท นั้น มิใช่เป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินกู้ตามฟ้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด (มหาชน) คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่คำให้การที่ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธฟ้องของโจทก์ รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง และมีประเด็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะนำสืบได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น …
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.50 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท

Share