แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.2515 ฉ. ตกลงว่าจ้างให้ ว. เป็นทนายความดำเนินการขับไล่ผู้เช่าให้ออกไปจาก ที่ดินของ ฉ. และ ว. ตกลงรับจ้างจัดการขับไล่ผู้เช่าทั้งหมด โดยตกลงเหมากันทำให้แล้วเสร็จในอัตราค่าจ้าง 1,000,000 บาท กำหนดชำระค่าจ้างกันเมื่อได้ขับไล่ผู้เช่าทั้งหมดออกไปแล้ว ดังนี้ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ฉ. มีความประสงค์ที่จะขับไล่ผู้อยู่ในที่ดินให้ออกไปเพื่อใช้ที่ดินปลูกสร้างอาคารจึงได้ไปปรึกษากับว.และตกลงจ้างว. ที่ ว. รับออกค่าใช้จ่ายไปก่อนก็เพราะ ฉ. เป็นเพื่อนสนิทกับ ว. เป็นกรณีที่ ว.ออก ค่าใช้จ่ายทดรองไปก่อนโดยสุจริต. ถือไม่ได้ว่า ว. ยุยงส่งเสริมให้มีการ ฟ้องคดีกัน ทั้งค่าจ้างที่ ฉ.ตกลงให้ ว. ก็ไม่มากเกินสมควร. ส่วนที่ ฉ. จะให้ ค่าจ้างเป็นเงิน 1,000,000 บาท หรือถ้าไม่มีเงินให้ก็จะให้เป็น ตึกแถว 2 ห้องนั้นก็เป็นข้อเสนอและความประสงค์ของ ฉ. เอง ซึ่ง ฉ. จะให้เป็นเงินก็ได้ ทั้งตึกแถว 2 ห้องนั้นก็มิใช่เป็นทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี จึงยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของ ว. เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน และคิดค่าจ้าง โดยแบ่งเอาจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาท ดังนี้สัญญาจ้างหาตกเป็นโมฆะไม่
ฉ. ตกลงจ้าง ว. ให้ดำเนินการขับไล่ผู้เช่าให้ออกไปจากที่ดินเป็นเงิน 1,000,000 บาท และ ว. ได้กระทำการ ตามที่ ฉ. ว่าจ้างไปบ้างแล้ว. ต่อมาทั้ง ฉ. และ ว.ถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลง ฉ. จำต้องใช้สินจ้างตามส่วนของการงานที่ได้ทำไปแล้วอันเป็นประโยชน์ แก่ ฉ.ซึ่งศาลกำหนดให้เป็นเงิน 450,000 บาทนั้น เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของนายวิโรจ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉลอง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นายฉลองได้ตกลงว่าจ้างนายวิโรจเป็นทนายความจัดการขับไล่ผู้เช่า ๒๑ หลังคาเรือนออกไปจากที่ดินของตนโดยกำหนดค่าจ้างเหมาเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจะจ่ายให้เมื่อขับไล่ผู้เช่าออกไปแล้วทั้งหมด หลังจากตกลงกันแล้วนายวิโรจดำเนินงานจนผู้เช่าย้ายออกไปจากที่ดินหลายราย คงเหลือเพียง ๖-๗ คนที่ไม่ยอมออก ซึ่งก็มีการฟ้องร้องไปแล้วผลงานที่นายวิโรจทำไว้สำเร็จไปมากกว่าร้อยละ ๙๐ ของงานทั้งหมดซึ่งนายฉลองจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ตามส่วนเป็นเงิน ๗๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่านายฉลองมิได้ตกลงว่าจ้างให้นายวิโรจฟ้องขับไล่ผู้เช่าในอัตราค่าจ้างเหมา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากมีการตกลงว่าจ้างให้ฟ้องขับไล่จริงก็ต้องคิดค่าจ้างตามธรรมดาคือห้องละ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งนายฉลองก็ได้ชำระเงินให้ไปหมดแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายไว้แล้วว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ นายฉลองได้ตกลงว่าจ้างให้นายวิโรจเป็นทนายความดำเนินการขับไล่ผู้เช่าให้ออกไปจากที่ดินของนายฉลอง และนายวิโรจได้ตกลงรับจ้างจัดการขับไล่ผู้เช่าทั้งหมดให้ออกไปจากที่ดินนายฉลองตามที่จ้าง โดยตกลงเหมากันทำให้แล้วเสร็จในอัตราค่าจ้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระค่าจ้างกันเมื่อได้ขับไล่ผู้เช่าทั้งหมดออกไปจากที่ดินแล้วซึ่งชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ หาเคลือบคลุมไม่
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าได้มีการตกลงค่าจ้างกันเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ปรากฏว่านายฉลองมีความประสงค์ที่จะขับไล่ผู้อยู่ในที่ดินให้ออกไปเพื่อใช้ที่ดินปลูกสร้างตึกแถวและโรงภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้ว จึงได้ไปปรึกษากับนายวิโรจและตกลงจ้างนายวิโรจที่นายวิโรจรับออกค่าใช้จ่ายไปก่อนก็เพราะนายฉลองเป็นเพื่อนสนิทกับนายวิโรจ นายวิโรจจึงยอมรับตามที่นายฉลองขอร้อง อันเป็นกรณีที่นายวิโรจออกค่าใช้จ่ายทดรองไปก่อนโดยสุจริตถือไม่ได้ว่านายวิโรจยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องคดีกัน ทั้งค่าจ้างที่นายฉลองตกลงให้นายวิโรจก็ไม่มากเกินสมควร เพราะที่ดินที่ฟ้องขับไล่มีราคาสูงถึง ๑๐ ล้านบาทเศษ เมื่อขับไล่ผู้อยู่อาศัยออกไปแล้วปลูกสร้างตึกแถวและโรงภาพยนตร์ นายฉลองก็จะต้องได้ผลประโยชน์เป็นสิบ ๆ ล้านบาท การขับไล่ผู้อยู่อาศัยก็มีความยากลำบากและจะต้องใช้เวลานานเนื่องจากผู้อยู่อาศัยมีจำนวนมากราย หากนายฉลองจะจ้างทนายความอื่นก็น่าจะต้องเสียค่าจ้างไม่น้อยกว่านี้ ส่วนที่นายฉลองจะให้ค่าจ้างเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือถ้าไม่มีเงินให้ก็จะให้เป็นตึกแถว ๒ ห้องนั้นก็เป็นข้อเสนอและความประสงค์ของนายฉลองเองซึ่งนายฉลองจะให้เป็นเงินก็ได้ ทั้งตึกแถว ๒ ห้องนั้นก็มิใช่เป็นทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของนายวิโรจเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน และคิดค่าจ้างโดยแบ่งเอาจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาท สัญญาจ้างหาตกเป็นโมฆะไม่
เมื่อฟังว่านายฉลองได้ตกลงว่าจ้างนายวิโรจเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทและนายวิโรจได้กระทำการตามที่นายฉลองว่าจ้างไปบ้างแล้ว ต่อมาทั้งนายฉลองและนายวิโรจถึงแก่ความตาย สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลง ผู้ว่าจ้างจำต้องใช้สินจ้างตามส่วนของการงานที่ได้ทำไปแล้วอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท นั้นเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
พิพากษายืน.