คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หน้าที่ของคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ คือต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา แคตตาล็อก หรือแบบรูปและรายละเอียดของพัสดุที่เสนอขึ้นไป และคัดเลือกพัสดุซึ่งเสนอขึ้นไปนั้นให้ถูกต้องตรงกับที่กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ตรวจคุณลักษณะของสมุดตัวอย่างที่ร้านพัฒนาพานิชเสนอขายแต่เพียงใช้มือจับและตาดูเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2จะไม่มีความรู้ในเรื่องคุณลักษณะของเนื้อในของสมุดที่ต้องตรวจคุณลักษณะก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับการ แต่งตั้ง มอบหมายให้เป็นกรรมการเปิดซองประกวดราคาจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ขวนขวายดำเนินการศึกษางานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพียงแต่ตรวจคุณลักษณะเนื้อใน ของสมุดโดยการจับด้วยมือและดูด้วยตาเท่านั้นยังไม่เพียงพอและเมื่อปรากฏว่าสมุดที่ร้าน พ. เสนอขายไม่ใช่ขนาดตามที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่แผนกพัสดุ จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกพัสดุ และเป็นผู้เห็นชอบให้ซื้อสมุดที่จำเลยที่ 1ที่ 2 เสนอมา ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การ พัสดุพ.ศ. 2524 ข้อ 22 ได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พัสดุ ไว้ ว่าก่อนดำเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธีนอกจากการซื้อที่ดินตามข้อ 23 ให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงานเสนอหัวหน้าส่วนราชการดังต่อไปนี้ (1) เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง(2) รายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างและตามข้อ 42(4)กำหนดว่า เมื่อได้ดำเนินการไปแล้วได้ผลประการใดให้เสนอความเห็นพร้อมด้วยเอกสารที่ได้รับไว้ทั้งหมดต่อหัวหน้า ส่วนราชการเพื่อสั่งการโดยเสนอผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่โดยตรง ที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของพัสดุที่จะซื้อ แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบคุณลักษณะของกระดาษที่จัดซื้อ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับ ความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน จำเลยที่ 5 ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดจำเลยที่ 6 ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด จำเลยที่ 7รองผู้ว่าราชการจังหวัด และจำเลยที่ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่เพียงแต่เสนอความเห็นตามลำดับชั้นว่าควรจัดซื้อพัสดุหรือไม่ โดยไม่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณลักษณะเนื้อในของสมุดดังกล่าว การที่จำเลยที่ 8 เป็นผู้อนุมัติให้จัดซื้อ ซึ่งหากไม่มีการเสนอความเห็นตามขั้นตอนจากคณะกรรมการรับซองคณะกรรมการเปิดซองและตรวจรับพัสดุแล้ว จำเลยที่ 8 ก็ไม่อาจสั่งการจัดซื้อได้เพราะไม่ผ่านขั้นตอนในการจัดซื้อตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่ 7 เมื่อจำเลยที่ 8อนุมัติให้จัดซื้อเพียงแต่ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายในฐานะผู้ซื้อเท่านั้นเอง ดังนี้ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8จึงไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกพัสดุมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณลักษณะของสมุดที่จัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524ข้อ 22 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงานเสนอหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องซื้อหรือจ้าง รายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างและตามข้อ 42(4) ให้คณะกรรมการเปิดซองหรือกรรมการจัดซื้อเสนอความเห็นผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ดังนั้นเจ้าหน้าที่แผนกพัสดุจึงมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบคุณลักษณะของ สมุดที่จัดซื้อ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จะอ้างว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 กระทำให้โจทก์เสียหายจึงต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ของเงินค่าเสียหายดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 3ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นผู้เสนอความเห็นตามที่จำเลยที่ 3ที่ 4 เสนอผ่านมาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบคุณลักษณะของกระดาษ และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด จึงไม่เป็นการละเมิด แม้สัญญาซื้อขายฉบับพิพาทไม่ได้ระบุรายละเอียดคุณลักษณะของกระดาษที่จัดซื้อว่ามีขนาด 60 แกรม อาจเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องผู้ขายไม่ได้เมื่อปรากฏว่าจำเลยผู้ทำสัญญาได้ระบุไว้ในสัญญาไว้แล้วว่า ผู้ขายยอมรับว่าสิ่งของที่ขายให้ตามสัญญานี้มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตามตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ขายที่จำเลยที่ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้อนุมัติให้จัดซื้อแล้ว ดังนี้ จำเลยผู้ทำสัญญาซื้อขาย ฉบับพิพาทจึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะทำตามคำสั่งอนุมัติของจำเลยที่ 8 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่รายงานการที่ผู้ขายนำสมุดไปส่งตามสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆ ล่าช้าอันเป็นการผิดสัญญาทำให้จังหวัดไม่ได้ปรับผู้ขายนั้น แม้ตามสัญญาซื้อขายจะระบุให้ผู้ขายนำสมุดไปส่งมอบ ณ ที่ทำการการประถมศึกษาประจำอำเภอต่าง ๆ แต่เมื่อปรากฏว่ามีข้อขัดข้องคือทางแผนกศึกษานิเทศไม่ได้กำหนดว่าอำเภอใดจะได้จำนวนกี่เล่ม และคณะกรรมการตรวจรับสมุดดินสอก็ไม่ได้แต่งตั้ง การที่ จำเลยที่ 3 ตรวจรับสมุด ณ ที่ทำการประถมศึกษาจังหวัดเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการรับมอบสมุดไว้แทนอำเภอต่าง ๆซึ่งต่อมาทางอำเภอต่าง ๆ ได้ตรวจรับถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ จังหวัดได้ส่งสำนวนการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโจทก์โดยเลขานุการกรมโจทก์รับไว้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2529ทางสำนักงานเลขานุการกรมส่งเรื่องทั้งหมดไปให้งานนิติการโจทก์ เพื่อทำการตรวจสำนวน งานนิติการรับเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529 งานนิติการได้สรุปสำนวนและเสนอความเห็นมายัง รองเลขาธิการโจทก์เมื่อเดือนตุลาคม 2529 นอกจากนี้ยังได้ ขอทราบราคากระดาษว่าต่างกันอย่างไร ต่อมาได้ส่งเรื่องไป กรมบัญชีกลางเพื่อทราบค่าเสียหาย ในที่สุดได้เสนอเรื่อง ไปยังเลขาธิการโจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 ดังนี้ เมื่อสำนวนการสอบสวนมาถึงสำนักงานโจทก์ครั้งแรก ไม่ได้นำเสนอ เลขาธิการโจทก์ในทันทีเพราะมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานอีกมากมาย แต่เพิ่งเสนอเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 เมื่อนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการ มีนายสมชัย วุฑฒิปรีชา เป็นเลขาธิการผู้แทนโจทก์นายสมชัยมอบอำนาจให้นายสัมฤทธิ์ ลำเจียกรองเลขาธิการรับผิดชอบปฏิบัติราชการของงานนิติการ มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการในการดำเนินคดีแพ่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นข้าราชการของโจทก์สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชจำเลยที่ 7 รับราชการตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจำเลยที่ 8 รับราชการตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบราชการในจังหวัดและอำเภอเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2524โจทก์ได้จัดสรรเงินงบประมาณหมวดรายจ่ายอื่นปีงบประมาณ 2524ให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเงิน 1,828,848 บาท เพื่อจัดซื้อสมุดและดินสอแจกนักเรียนยากจนในโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้ซื้อสมุดและดินสอตามลักษณะที่กำหนด ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2524จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมกันทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 8ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขออนุมัติจัดซื้อเครื่องเขียนตามชนิดและขนาดดังกล่าวโดยวิธีประกวดราคาและขอแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประกวดราคารวม 9 คน กับขอให้จังหวัดประกาศเรียกประกวดราคา จำเลยที่ 8 ได้อนุมัติให้ดำเนินการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการรับซองประกวดราคาคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 2และนายประนม ศรีเจริญ และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ กับออกประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องเรียกประกวดราคาจัดซื้อเครื่องเขียนสำหรับแจกเด็กนักเรียนโดยมีข้อกำหนดสำคัญดังกล่าวข้างต้นโดยให้ผู้ยื่นซองประกวดราคายื่นใบเสนอราคาพร้อมหลักฐานและตัวอย่างสิ่งของต่อคณะกรรมการรับซอง ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2524มีผู้ยื่นซองประกวดราคา 3 ราย โดยผู้ยื่นซองประกวดราคาทั้ง 3 รายได้มอบเอกสารหลักฐานรวมทั้งสมุดตัวอย่างให้คณะกรรมการรับซองประกวดราคาคณะกรรมการรับซองรับเอกสารทั้งหมดและมอบให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขในใบแจ้งการประกวดราคาหรือไม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อจำเลยที่ 8 สั่งการ วันที่ 21 กรกฎาคม 2524 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ตรวจดูให้ดีว่า เนื้อกระดาษในสมุดตัวอย่างที่ร้านพัฒนาพานิช โดยนายสืบ โฉมทอง แนบมาพร้อมซองประกวดราคานั้นมีคุณลักษณะใช้กระดาษฟอกขาว ชนิด 60 แกรม ตามที่ระบุไว้ในประกาศหรือไม่ และด้วยความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันตรวจรับสมุดตัวอย่างของร้านพัฒนาพานิชไว้และเนื่องจากร้านพัฒนาพานิชเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 1,687,495.99 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเสนอความเห็นควรพิจารณาจัดซื้อเครื่องเขียนจากร้านพัฒนาพานิชพร้อมเอกสารทั้งหมด ผ่านจำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เพื่อเสนอต่อจำเลยที่ 8 อนุมัติ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เมื่อได้รับความเห็นและเอกสารจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วร่วมกันทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 8 ว่าควรอนุมัติให้จัดซื้อสมุดและดินสอจากร้านพัฒนาพานิช โดยไม่ตรวจดูให้ดีว่าเนื้อในกระดาษสมุดตัวอย่างที่ร้านพัฒนาพานิชแนบมานั้นมีคุณลักษณะใช้กระดาษฟอกขาวชนิด 60 แกรม หรือไม่และจำเลยที่ 8 เมื่อได้รับความเห็นและเอกสารทั้งหมดแล้ว ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อเช่นกัน โดยไม่ตรวจดูให้ดีว่าเนื้อในกระดาษสมุดตัวอย่างที่ร้านพัฒนาพานิชแนบมานั้นมีคุณลักษณะใช้กระดาษฟอกขาวชนิด 60 แกรม หรือไม่ จำเลยที่ 8 ได้อนุมัติให้จัดซื้อสมุดและดินสอจากร้านพัฒนาพานิช ต่อมาวันที่ 15สิงหาคม 2524 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5และที่ 6 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อกล่าวคือ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันจัดทำสัญญาซื้อขายเครื่องเขียนประเภท สมุดและดินสอดำ ระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ซื้อ กับนายสืบ โฉมทอง ร้านพัฒนาพานิชผู้ขาย โดยสัญญาระบุว่า ผู้ซื้อตกลงซื้อ และผู้ขายตกลงขายเครื่องเขียนประเภทสมุดและดินสอ สมุด ชนิด 20 แผ่น 601,927 เล่มสมุดชนิด 40 แผ่น 210,672 เล่ม และดินสอดำ เอช บี 481,542 แท่งจำนวน 3 รายการ ราคารวม 1,687,495.99 บาท โดยไม่ระบุข้อความรายละเอียดของคุณลักษณะเนื้อในกระดาษสมุดที่ต้องการซื้อและไม่ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายตามข้อ 5 ท้ายระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 จัดทำสัญญาซื้อขายบกพร่องเสนอจำเลยที่ 8 เพื่อลงนามในฐานะผู้ซื้อซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 7 ในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 8 โดยจำเลยที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจดูให้ดีว่าสัญญาซื้อขายบกพร่องและด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 เป็นเหตุให้ต่อมาร้านพัฒนาพานิชส่งสมุดชนิด 20 แผ่นและ 40 แผ่น ตามตัวอย่างที่มอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเนื้อในสมุดใช้กระดาษฟอกขาวชนิด 42.8 แกรม แก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจแล้วเห็นว่าสมุดที่ส่งมอบตรงตามตัวอย่างที่ผู้ขายมอบให้จึงรับไว้ แล้วจำเลยที่ 6 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าสมุดและดินสอแก่นายสืบเจ้าของร้านพัฒนาพานิชและนายสืบได้รับเงินไปจากสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเนื่องจากงบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อจัดซื้อสมุดและดินสอยังมีเงินเหลือจ่าย จำนวน 132,352.01 บาท จำเลยที่ 5 ทำบันทึกในนามสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงจำเลยที่ 8 ขอซื้อสมุดชนิด 20 แผ่น จำนวน 85,328 เล่ม โดยวิธีพิเศษและขอแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ 6 คน คือ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ 3 คน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ 3 คน ซึ่งจำเลยที่ 8 อนุมัติ ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2524 คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเรียกนายสืบเจ้าของร้านพัฒนาพานิชมาตกลงขอซื้อสมุดชนิด 20 แผ่น จำนวน 85,328 เล่ม ในราคาเล่มละ 1.41 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 120,312.48 บาท โดยนายสืบตกลงว่าจะจัดส่งสมุดจำนวนดังกล่าวให้แก่จังหวัดถึงสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอทุกอำเภอตามแต่จังหวัดจะจัดสรรภายในเวลา 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายเป็นต้นไป โดยไม่คิดค่าขนส่งเพิ่มเติมและให้ถือเอาสมุดตัวอย่างที่นายสืบมอบให้แก่คณะกรรมการรับซองประกวดราคาในคราวซื้อสมุดครั้งแรกเป็นสมุดที่ตกลงซื้อขายกัน ทั้ง ๆ ที่สมุดตัวอย่างดังกล่าวเนื้อในสมุดใช้กระดาษฟอกขาวชนิด 42.8 แกรม ไม่ใช่ 60 แกรม ตามที่กำหนดและคณะกรรมการจัดซื้อมอบบันทึกการตกลงให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่ทำรายงานและความเห็นให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยร่วมกันทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 8 ว่าควรอนุมัติซื้อสมุดจากนายสืบและจำเลยที่ 8ลงนามในสัญญาซื้อขายโดยที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ไม่มีอำนาจและหน้าที่ เพราะคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษยังไม่ได้ทำรายงานความเห็นให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ทำบันทึกขออนุมัติขอซื้อสมุดดังกล่าวโดยไม่ตรวจดูให้ดีว่า เนื้อในกระดาษสมุดตัวอย่างที่นายสืบเจ้าของร้านพัฒนาพานิชมอบให้มีคุณลักษณะใช้กระดาษฟอกขาวชนิด 60 แกรมตามที่โจทก์ต้องการจะซื้อหรือไม่ แต่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมกันทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 8ว่าควรอนุมัติซื้อสมุดจากนายสืบ และจำเลยที่ 7 ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายในฐานะผู้ซื้อกับนายสืบเจ้าของร้านพัฒนาพานิชผู้ขาย และตามสัญญา ข้อ 3. ระบุว่า ผู้ขายสัญญาจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อ ณ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆ ตามที่จังหวัดกำหนดภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2524และตามสัญญาข้อ 8 และข้อ 9 ระบุว่า หากผู้ขายผิดสัญญาและผู้ซื้อไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายนำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนครบถ้วน ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 นายสืบนำสมุด 20 แผ่น จำนวน 85,328 เล่ม ไปส่งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทำการตรวจรับ ซึ่งผิดจากที่ระบุไว้ในสัญญาและจำเลยที่ 3 แจ้งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไปทำการตรวจรับสมุดที่โกดังขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมกับมอบสมุดตัวอย่างที่นายสืบมอบให้แก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุเพื่อใช้เปรียบเทียบกับสมุดที่จะตรวจรับ โดยจำเลยที่ 3 เปลี่ยนแปลงสถานที่ส่งมอบของโดยพลการโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจรับสมุดชนิด 20 แผ่นจำนวน 85,328 เล่ม แต่เนื้อในใช้กระดาษฟอกขาว ชนิด 42.8 แกรมจากนายสืบ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 6 ผ่านจำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่านายสืบได้ส่งของให้คณะกรรมการตรวจรับถูกต้องแล้วเห็นควรเบิกเงินให้แก่ผู้ขายได้จำนวน 120,312.48 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ความเห็นต่อท้ายบันทึกว่า ควรอนุมัติให้เบิกได้ จำเลยที่ 6สั่งอนุมัติให้จ่ายเงินค่าสมุดแก่นายสืบ ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นนายสืบยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา โดยยังไม่ได้นำสมุดไปส่งให้แก่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆ ตามที่จังหวัดกำหนดซึ่งการส่งมอบของล่าช้ากว่ากำหนด ผู้ขายจะต้องถูกปรับตามสัญญาแต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไม่รายงานการผิดสัญญาและการส่งมอบของล่าช้ากว่ากำหนดของผู้ขายไปยังจำเลยที่ 7 และที่ 8เพื่อให้ดำเนินการปรับผู้ขายตามสัญญา ทำให้จังหวัดไม่ได้ดำเนินการปรับผู้ขายตามสัญญา และโจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือต้องเสียเงินซื้อสมุดคุณภาพต่ำในราคาสูง ดังนั้นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 รวมค่าเสียหายที่โจทก์ซื้อสมุดในการจัดซื้อครั้งแรก โดยวิธีประกวดราคาทั้งสิ้น 321,842.25 บาทค่าเสียหายดังกล่าวนี้จำเลยทั้งแปดต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ให้โจทก์และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่21 กรกฎาคม 2524 ซึ่งเป็นวันเปิดซองประกวดราคาอันเป็นวันเริ่มต้นกระทำละเมิดจนถึงวันที่ 18 กันยายน 2530 รวมเวลา 6 ปี 1 เดือน27 วัน รวมเป็นเงินดอกเบี้ย 148,651.31 บาท รวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 470,494.56 บาท ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ต้องซื้อสมุด 20 แผ่น แพงไป 27,591.67 บาท ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 จะต้องร่วมกันรับผิดและโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน2524 จนถึงวันที่ 18 กันยายน 2530 รวมเป็นเวลา 5 ปี 11 เดือน20 วัน รวมเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งสิ้น 12,359.56 บาท รวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 39,951.23 บาท นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่รายงานให้จังหวัดทราบเพื่อปรับผู้ขายในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาส่งสมุดไปยังสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอตามที่จังหวัดกำหนดล่าช้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ขายจะต้องถูกปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา จนถึงวันที่ผู้ขายนำสิ่งของส่งมาให้แก่ผู้ซื้ออย่างครบถ้วน ฉะนั้นผู้ขายจะต้องเสียเงินค่าปรับให้แก่จังหวัด เนื่องจากส่งมอบสมุดให้สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆล่าช้ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,927.26 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2524 จนถึงวันที่ 18 กันยายน 2530 รวมเป็นเวลา 5 ปี 9 เดือน 22 วันรวมเป็นเงินดอกเบี้ย 2,583.12 บาท รวมค่าปรับและดอกเบี้ย8,510.38 บาท รวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากการซื้อสมุดทั้งสองครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น 518,956.17 บาท โจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยทั้งแปด และรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าเสียหายทดแทนในวันที่ 13 ตุลาคม 2529 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 470,494.56 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 39,951.23 บาท และ 8,510.38 บาท แก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 321,843.25บาท แก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 27,591.67 บาท และ 5,927.26 บาท แก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีหลายประการ และต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความกล่าวคือ โจทก์ได้รับการร้องเรียนแล้วมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้ต้องรับผิดทางแพ่งในคดีนี้ คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสรุปสำนวนเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่17 กรกฎาคม 2529 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งรายงานให้โจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529 โจทก์ทราบหรือควรจะทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์อย่างช้าวันที่ 17 กันยายน 2529 แต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย จำนวน 321,843.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2524เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน148,651.31 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อ พ.ศ. 2524 โจทก์จัดสรรงบประมาณจำนวนเงิน1,828,848 บาท ให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยผ่านทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดซื้อสมุดและดินสอตามคุณลักษณะที่กำหนดแจกนักเรียนยากจนในโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์การจัดซื้อครั้งแรกโดยวิธีการประกวดราคาจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีก 1 คน เป็นคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาปรากฏว่าร้านพัฒนาพานิชของนายสืบ โฉมทอง ชนะการประกวดราคาจำเลยที่ 1 ที่ 2 เสนอความเห็นควรพิจารณาจัดซื้อจากร้านพัฒนาพานิชผ่านจำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่แผนกพัสดุ จำเลยที่ 4หัวหน้าแผนกพัสดุจำเลยที่ 5 ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชจำเลยที่ 6 ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชจำเลยที่ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วอนุมัติให้จัดซื้อ จำเลยที่ 7 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขาย ร้านพัฒนาพานิชได้ส่งของครบถ้วน เนื่องจากมีเงินเหลือจำนวน 132,352.01 บาท จำเลยที่ 3 เสนอผ่านจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และจำเลยที่ 8 อนุมัติให้จัดซื้อสมุดโดยวิธีพิเศษ คณะกรรมการจัดซื้อติดต่อร้านพัฒนาพานิชมาตกลงซื้อโดยถือเอาสมุดที่จัดซื้อครั้งแรกเป็นตัวอย่าง จำเลยที่ 3ทำบันทึกผ่านจำเลยที่ 4 ที่ 5 ว่าควรจัดซื้อจากร้านพัฒนาพานิชจำเลยที่ 8 อนุมัติโดยจำเลยที่ 7 ลงนามในสัญญาซื้อขายร้านพัฒนาพานิชได้ส่งสมุดให้ครบถ้วนตามสมุดตัวอย่างที่ซื้อในครั้งแรก ต่อมามีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดนครศรีธรรมราชว่าในการจัดซื้อสมุดและดินสอทั้งสองครั้งมีการทุจริต สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8ตรวจสอบเห็นว่ามีมูลจึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลเห็นควรวินิจฉัยในการจัดซื้อครั้งแรกก่อน โจทก์มีนายจำเนียร คงคุ้มนิติกรสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งเบิกความว่า หน้าที่ของคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุตามเอกสารหมาย จ.68 หน้า 14 ข้อ 42 คือต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา แคตตาล็อก หรือแบบรูปและรายละเอียดของพัสดุที่เสนอขึ้นไปและคัดเลือกพัสดุซึ่งเสนอขึ้นไปนั้นให้ถูกต้องตรงกับที่กำหนดไว้และจากการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชี้แจงในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการเปิดซองประกวดราคานั้นได้ความแต่เพียงว่าใช้มือจับดูสินค้าที่ถูกเสนอขึ้นไป และเปรียบเทียบกับที่เคยซื้อในคราวก่อนแล้วจึงเห็นว่าใช้ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสนอให้ซื้อพัสดุจากร้านพัฒนาพานิช แล้วศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตรวจคุณลักษณะของสมุดตัวอย่างที่ร้านพัฒนาพานิชเสนอขายแต่เพียงใช้มือจับและตาดูเท่านั้น ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะไม่มีความรู้ในเรื่องคุณลักษณะของเนื้อในของสมุดว่าเป็นกระดาษฟอกขาวขนาด 60 แกรม หมายความว่าอย่างไรแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งมอบหมายให้เป็นกรรมการเปิดซองประกวดราคาจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยสอบถามจากร้านขายสมุดหนังสือหรือจากพาณิชย์จังหวัดหรืออุตสาหกรรมจังหวัดก็ได้ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ขวนขวายดำเนินการศึกษางานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแต่ประการใดเพียงแต่ตรวจคุณลักษณะเนื้อในของสมุดโดยการจับด้วยมือและดูด้วยตาเท่านั้นยังไม่เพียงพอเมื่อปรากฏว่าสมุดที่ร้านพัฒนาพานิชเสนอขายมีขนาด 42.8 แกรม ไม่ใช่ขนาด 60 แกรม ตามที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งนายกำธร สถิรกุลพยานโจทก์เบิกความว่า กระดาษขนาด 42.8 แกรม บางกว่าขนาด 60 แกรม นายสมชัยเบิกความว่า เมื่อเนื้อในกระดาษบางหากเขียนด้วยปากกาน้ำหมึกจะซึมและถ้าเขียนผิดแล้วลบจะทำให้กระดาษขาดได้ คุณภาพของกระดาษจากร้านพัฒนาพานิชจึงด้อยกว่าที่โจทก์กำหนดไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่แผนกพัสดุ จำเลยที่ 4เป็นหัวหน้าแผนกพัสดุ และเป็นผู้เห็นชอบให้ซื้อสมุดที่จำเลยที่ 1ที่ 2 เสนอมานั้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2524 ข้อ 22 ได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พัสดุไว้ว่าก่อนดำเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธีนอกจากการซื้อที่ดินตามข้อ 23ให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงานเสนอหัวหน้าส่วนราชการดังต่อไปนี้(1) เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง (2) รายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้าง และตามข้อ 42(4) กำหนดว่า เมื่อได้ดำเนินการไปแล้วได้ผลประการใด ให้เสนอความเห็นพร้อมด้วยเอกสารที่ได้รับไว้ทั้งหมดต่อหัวหน้าส่วนราชการเพื่อสั่งการโดยเสนอผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4เป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของพัสดุที่จะซื้อ การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบคุณลักษณะของกระดาษที่จัดซื้อ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน
ส่วนจำเลยที่ 5 ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 6 ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 7 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน้าที่เพียงแต่เสนอความเห็นตามลำดับชั้นว่าควรจัดซื้อพัสดุดังกล่าวหรือไม่ โดยไม่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณลักษณะเนื้อในของสมุด จำเลยที่ 8 เป็นผู้อนุมัติให้จัดซื้อซึ่งตามคำเบิกความของนายสมชัยได้ความว่าหากไม่มีการเสนอความเห็นตามขั้นตอนจากคณะกรรมการรับซอง คณะกรรมการเปิดซองและตรวจรับพัสดุแล้ว จำเลยที่ 8 ก็ไม่อาจสั่งการจัดซื้อได้เพราะไม่ผ่านขั้นตอนในการจัดซื้อตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่ 7 เมื่อจำเลยที่ 8 อนุมัติให้จัดซื้อเพียงแต่ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายในฐานะผู้ซื้อเท่านั้นเอง จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแต่ประการใดจึงถือไม่ได้ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์
สำหรับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษนั้นโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3ทำบันทึกเสนอผ่านจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 8 เป็นผู้อนุมัติให้ซื้อสมุดไม่ได้คุณลักษณะขนาด 60 แกรม เป็นเหตุให้โจทก์ซื้อสมุดแพงไป 27,591.67 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด เห็นว่า จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกพัสดุมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณลักษณะของสมุดที่จัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 ข้อ 22 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงานเสนอหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องซื้อหรือจ้าง รายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างและตามข้อ 42(4) ให้คณะกรรมการเปิดซองหรือกรรมการจัดซื้อเสนอความเห็นผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ดังนั้น เจ้าหน้าที่แผนกพัสดุจึงมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบคุณลักษณะของสมุดที่จัดซื้อ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จะอ้างว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 กระทำให้โจทก์เสียหายจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 27,591.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2524 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3 ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 4 เป็นวันทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นผู้เสนอความเห็นตามที่จำเลยที่ 3 ที่ 4เสนอผ่านมาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบคุณลักษณะของกระดาษได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด จึงไม่ต้องรับผิด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.93 ไม่ได้ระบุรายละเอียดคุณลักษณะของกระดาษที่จัดซื้อว่ามีขนาด 60 แกรม เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องผู้ขายไม่ได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าแม้สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.93 จะไม่มีรายละเอียดว่าคุณลักษณะเนื้อในของกระดาษมีขนาด 60 แกรม ก็ตามแต่จำเลยได้ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า ผู้ขายยอมรับว่าสิ่งของที่ขายให้ตามสัญญานี้มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตามตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ขายที่จำเลยที่ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อนุมัติให้จัดซื้อแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์เพราะทำตามคำสั่งอนุมัติของจำเลยที่ 8 แล้ว
โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่รายงานการที่ผู้ขายนำสมุดไปส่งตามสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆล่าช้าอันเป็นการผิดสัญญาทำให้จังหวัดไม่ได้ปรับผู้ขายเป็นละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าแม้ตามสัญญาซื้อขายจะระบุให้ผู้ขายนำสมุดไปส่งมอบ ณ ที่ทำการการประถมศึกษาประจำอำเภอต่าง ๆ แต่เมื่อปรากฏในทางนำสืบของฝ่ายจำเลยว่ามีข้อขัดข้องคือทางแผนกศึกษานิเทศก็ไม่ได้กำหนดว่าอำเภอใดจะได้จำนวนกี่เล่ม และคณะกรรมการตรวจรับสมุดดินสอก็ไม่ได้แต่งตั้ง การที่จำเลยที่ 3 ตรวจรับสมุดณ ที่ทำการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 3เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการรับมอบสมุดไว้แทนอำเภอต่าง ๆซึ่งต่อมาทางอำเภอต่าง ๆ ได้ตรวจรับถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่า โจทก์ได้มอบหมายให้จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งคณะกรรมการหาผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการสอบสวนแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบหนังสือถึงสำนักงานโจทก์ลงสารบรรณรับเมื่อวันที่15 กันยายน 2529 เจ้าหน้าที่เสนอรองเลขาธิการโจทก์เมื่อวันที่16 กันยายน 2529 ถือว่าโจทก์ได้รับทราบผู้ที่ต้องรับผิดทางแพ่งในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530เกิน 1 ปี คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์มีนายสัมฤทธิ์ ลำเจียกอดีตรองเลขาธิการโจทก์เบิกความว่า ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ส่งสำนวนการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งให้โจทก์โดยเลขานุการกรมโจทก์รับไว้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2529ทางสำนักงานเลขานุการกรมส่งเรื่องทั้งหมดไปให้งานนิติการโจทก์เพื่อทำการตรวจสำนวน งานนิติการรับเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529งานนิติการได้สรุปสำนวนและเสนอความเห็นมายังพยานเมื่อเดือนตุลาคม2529 นอกจากนี้ยังได้ขอทราบราคากระดาษขนาด 60 แกรม กับกระดาษขนาด 42.8 แกรมว่าต่างกันอย่างไร จากจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อมาได้ส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อทราบค่าเสียหายในที่สุดได้เสนอเรื่องไปยังนายสมชัย วุฑฒิปรีชา เลขาธิการโจทก์โจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 ดังนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อสำนวนการสอบสวนมาถึงสำนักงานโจทก์ครั้งแรก ไม่ได้นำเสนอเลขาธิการโจทก์ในทันทีเพราะมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานอีกมากมายเพื่อเสนอเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 321,843.25 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม2524 เป็นต้นไปจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นแต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 148,651.31 บาท และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4ร่วมกันชำระเงินจำนวน 27,591.67 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้นแต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 12,359.56 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share