แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,80ลดมาตราส่วนโทษแล้วลงโทษจำคุกจำเลย6ปีให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมแทนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา295ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษจำเลยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและการให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือมอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลฯถือได้ว่าเบากว่าโทษจำคุกจึงเป็นการให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534มาตรา6ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74, 77, 80, 83, 288 หากศาลเห็นว่าไม่สมควรลงโทษจำเลยขอให้เรียกบิดามารดาจำเลยมาวางข้อกำหนดระวังดูแลมิให้ก่อเหตุร้ายและกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อศาลเมื่อจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษเมื่อคำนึงถึงอายุ อาชีพ สติปัญญา ความประพฤติ สุขภาพ นิสัยการศึกษาอบรมสภาพแวดล้อม ทั้งสภาพแห่งความผิดประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษ จำคุก 6 ปี แต่จำเลยกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย คึกคะนอง ขาดความยั้งคิดหากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าได้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534มาตรา 104(2), 105 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปีนับแต่วันพิพากษาคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ เมื่อพิจารณารายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาแล้วเห็นว่า จำเลยมีนิสัยชอบคบเพื่อนและคล้อยตามเพื่อนชักชวนกันเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน จำเลยกระทำความผิดคดีนี้เพราะความเยาว์วัยคึกคะนองขาดความยั้งคิด แต่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก และพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับบิดามารดายังเอาใจใส่ดูแลจำเลย ทั้งจำเลยยังอยู่ในวัยเรียน เห็นควรให้จำเลยมีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีและศึกษาเล่าเรียนต่อไปจึงให้มอบตัวจำเลยแก่นายกิตติศักดิ์ วงศ์อำไพพิสิฐ และนางจันทร์ฉาย วงศ์อำไพพิสิฐ บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลไม่ให้จำเลยก่อเหตุร้ายภายในกำหนด 2 ปี หากจำเลยไปก่อเหตุร้ายขึ้นอีกภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้บิดามารดาจำเลยชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(2)ประกอบมาตรา 75
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80 ลดมาตราส่วนโทษแล้ว ลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลฯดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษจำเลยเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และการให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือมอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาจำเลยไปอบรมดูแลฯถือได้ว่าเบากว่าโทษจำคุก จึงเป็นการให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายก ฎีกา โจทก์