คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ.2490มาตรา5(1)(ก)ได้บัญญัติยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนของราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการเมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นของกรมตำรวจและจำเลยที่1เบิกมาใช้ในราชการโดยชอบจำเลยที่1จึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแม้จะได้ความว่าจำเลยที่1เบิกอาวุธปืนของกลางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน2532และมิได้ส่งคืนเพื่อตรวจสอบในกำหนด1เดือนก็ตามก็เป็นเรื่องผิดระเบียบภายในของกรมตำรวจหาทำให้การกระทำที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดขึ้นไม่ จำเลยที่1รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก5กองกำกับการ2กองปราบปรามกรมตำรวจที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่1ได้ยื่นใบลาขอหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่22ถึงวันที่29กันยายน2532และได้เดินทางไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสต่อมาถูกจับและยึดอาวุธปืนของกลางได้ในวันที่3ตุลาคม2532ที่ห้องพักโรงแรมพลาซ่า อำเภอสุไหงโก-ลก และจำเลยที่1พาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตถือได้ว่าจำเลยที่1พาอาวุธปืนของกลางไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรทั้งการพาอาวุธปืนของกลางดังกล่าวไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะนั้นจำเลยที่1มิได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากจำเลยที่1มิได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในท้องที่ดังกล่าวจำเลยที่1จึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย จำเลยที่1กับพวกอีกหนึ่งคนมาที่บ้านผู้เสียหายแนะนำตัวว่าชื่อร้อยตำรวจโทอ. มาจากกองปราบปรามมาทำงานโดยขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและถามผู้เสียหายว่าจะให้เท่าใดผู้เสียหายเป็นนักการพนันเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมาขอเงินกลับจะถูกจับกุมเพราะในบ้านของผู้เสียหายมีการลักลอบเล่นการพนันเป็นประจำจึงบอกว่าจะให้10,000บาทจำเลยที่1ขอ15,000บาทผู้เสียหายจึงให้เงินจำนวนดังกล่าวจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่1มิได้แกล้งกล่าวหาผู้เสียหายในข้อหาใดทั้งจำเลยที่1มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแต่ประการใดจำเลยที่1เพียงแต่พูดขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้จำเลยที่1มิได้กระทำการอันใดอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินจำเลยที่1ยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา148 จำเลยที่1เรียกร้องเงินจากส. และอ. ผู้เสียหายแต่ละรายหากไม่ยอมให้เงินจะจับกุมจนผู้เสียหายทั้งสองรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่1แม้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้ามือสลากกินรวบซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1มีหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของผู้เสียหายทั้งสองรายนี้ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่1เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายหลายรายในเวลาไล่เลี่ยกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดข่มขืนใจและจูงใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยที่1โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องเอาเงินเท่านั้นดังนั้นการที่จำเลยที่1เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองรายหากไม่ยอมให้จะจับกุมจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา148และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา337 จำเลยที่1เรียกร้องเงินจากพ. ผู้เสียหายโดยกล่าวในทำนองว่าถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณีพ.ตกลงให้เงินแก่จำเลยที่1เพราะพ.เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการคุมผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีในเขตอำเภอสุไหงโก-ลกและพ. ตกลงให้เงินเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในพวกสมาชิกหญิงที่มีอาชีพรับจ้างค้าประเวณีดังนั้นการที่จำเลยที่1เรียกร้องเงินจากพ.ผู้เสียหายหากไม่ยอมให้จะจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของพ. ผู้เสียหายโดยพฤติการณ์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยที่1มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดข่มขืนใจให้พ.ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยที่1โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมหญิงค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของพ. ผู้เสียหายทั้งที่ไม่ปรากฏว่าขณะข่มขู่ดังกล่าวมีการค้าประเวณีกันจริงกรณีจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา148และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา337 ความผิดกระทงที่หนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่1นั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา148ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน10ปีขึ้นไปกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา91(3)ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินกำหนด50ปี

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนที่ 1 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 210, 337, 371, 83, 86,90, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 3, 6, 7 คืนของกลางแก่เจ้าของให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน 20,000 บาทแก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยทั้งแปดในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 129-133/2533 ของศาลชั้นต้น
สำนวนที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 83, 86, 91 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงิน จำนวน 8,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสองและให้นับโทษจำเลยทั้งแปดต่อเนื่องกันทั้งหกสำนวน
สำนวนที่ 3 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 83, 86 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายและให้นัดโทษจำเลยทั้งแปดต่อเนื่องกันทั้งหกสำนวน
สำนวนที่ 4 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 83, 86, 91 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 15,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสามตามส่วน และให้นับโทษจำเลยทั้งแปดต่อเนื่องกันทั้งหกสำนวน
สำนวนที่ 5 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 83, 86 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงิน จำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหายและให้นับโทษจำเลยทั้งแปดต่อเนื่องกันทั้งหกสำนวน
สำนวนที่ 6 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337, 83, 86 ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 15,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยทั้งแปดต่อเนื่องกันทั้งหกสำนวน
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยทั้งแปดในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 วรรคแรก, 83, 90, 91 และจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371แต่ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนจำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 วรรคแรก,86 ในสำนวนที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ฐานมีอาวุธปืน ให้จำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้จำคุก 6 เดือน ในสำนวนที่ 2 ถึงที่ 6 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบและฐานกรรโชก เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบที่มีโทษหนักที่สุดให้ลงโทษสำนวนที่ 2 มีกำหนดกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทงรวมจำคุก 10 ปี ให้ลงโทษสำนวนที่ 3 มีกำหนด 5 ปี ให้ลงโทษสำนวนที่ 4 กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง รวมจำคุก 15 ปี ให้ลงโทษสำนวนที่ 5 และที่ 6 สำนวนละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยที่ 1 นำสืบรับกันว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว รวมจำคุก จำเลยที่ 1 ทุกสำนวนให้จำคุก 45 ปี 8 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ปรับ 1,200 บาท ลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฐานมีอาวุธปืนให้จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาทฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้จำคุกคนละ 6 เดือนปรับคนละ 4,000 บาท รวมจำคุก จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีกำหนดคนละ1 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 นำสืบรับนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 800 บาทส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 คงจำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาทจำเลยที่ 8 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ประกอบมาตรา 86 อันเป็นบทหนักให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปีหากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายในสำนวนที่สองถึงที่หก รวมเป็นเงิน 63,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามส่วน โดยจำนวนเงิน 20,000 บาท ในสำนวนที่ 5 ที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนหรือชดใช้นั้นให้จำเลยที่ 8 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ด้วย ให้คืนของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ทุกสำนวนยกฟ้อง โจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ในสำนวนที่ 2 ถึงที่ 6 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 6
จำเลยที่ 1 ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องทั้งหกสำนวน ได้มีผู้ที่อ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเรียกร้องเงินจากนายวินัย ฉลองวงศ์(ผู้เสียหายในสำนวนที่ 1) นายแสงทิพย์ คติสมสกุล นายอรุณเนาวรัตน์ (ผู้เสียหายในสำนวนที่ 2) นายไพรินทร์ กาญจนาพงศาเวช(ผู้เสียในสำนวนที่ 3) นายสุรพล เลาประสพวัฒนา นายวัฒนา ห่อมานายขม สุวรรณประเสริฐ ผู้เสียหายในสำนวนที่ 4) นายยะปาร์เจ๊ะมะ (ผู้เสียหายในสำนวนที่ 5) และนายกิตติ หล่อไพบูลย์(ผู้เสียหายในสำนวนที่ 6) แล้วผู้เสียหายแต่ละรายดังกล่าวได้จ่ายเงินตามที่เรียกร้องให้แก่ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไปมีจำนวนเงินปรากฏรายละเอียดตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย ปจ.3 ถึง ปจ.8 (ศาลจังหวัดสงขลา) ต่อมาวันที่3 ตุลาคม 2532 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงโก-ลกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 8 คน ได้พร้อมของกลางตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ปจ.1 (ศาลจังหวัดปัตตานี) และบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย ปจ.1 (ศาลจังหวัดสงขลา) โดยเฉพาะอาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก หมายเลขทะเบียนโล่ 14384 ซึ่งเป็นของทางราชการกรมตำรวจพร้อมกระสุนปืน 5 นัด ยึดได้จากจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งกันว่าอาวุธปืนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 เป็นปืนพกขนาด .38หมายเลขทะเบียนโล่ 14384 ซึ่งเป็นของทางราชการกรมตำรวจ และอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 อาวุธปืนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้เบิกไปจากทางราชการกรมตำรวจเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2532 โดยได้รับอนุญาตจากพันตำรวจตรีอดุลย์เดช สาริกาพันธ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามระเบียบการเบิกอาวุธปืนจะอนุญาตให้เบิกจ่ายคราวละ 1 เดือน เมื่อครบกำหนดผู้เบิกจะต้องส่งมอบอาวุธปืนที่เบิกต่อเจ้าหน้าที่คลังอาวุธปืนเพื่อตรวจสอบ ตามหลักฐานการเบิกจ่ายไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้คืนอาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องตามระเบียบ ในช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้พันตำรวจตรีอดุลย์ สาริกาพันธ์ และกรมตำรวจไม่ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปราชการในท้องที่เกิดเหตุ แต่ระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบลาพักผ่อนประจำปีรวม 8 วัน ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2532 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงโก-ลก จับจำเลยที่ 1 พร้อมกับยึดอาวุธปืนดังกล่าวได้ในห้องพักโรงแรมพลาซ่า อำเภอสุไหงโก-ลกจังหวัดนราธิวาส ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 5 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้เว้นแต่มาตรา 8 ทวิ มิให้ใช้บังคับแก่
(1) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนของ
(ก) ราชการทหาร และตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการ”
เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นของกรมตำรวจและจำเลยที่ 1เบิกมาใช้ในราชการโดยชอบ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 เบิกอาวุธปืนของกลางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน2532 และมิได้ส่งคืนเพื่อตรวจสอบในกำหนด 1 เดือนก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดระเบียบภายในของกรมตำรวจหาทำให้การกระทำที่ไม่เป็นความผิด กลับกลายเป็นความผิดขึ้นไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม กรมตำรวจที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบลาขอหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2532 และได้เดินทางไปที่อำเภอสุไหลโก-ลกจังหวัดนราธิวาส ต่อมาถูกจับและยึดอาวุธปืนของกลางได้ในวันที่3 ตุลาคม 2532 ที่ห้องพักโรงแรมพลาซ่า อำเภอสุไหงโก-ลกจังหวัดนราธิวาส ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งการพาอาวุธปืนของกลางดังกล่าวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะนั้น จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในท้องที่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148ในสำนวนที่ 1 และได้กระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายแต่ละรายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 และเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148ในสำนวนที่ 2 ถึงสำนวนที่ 6 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาหรือไม่ ในปัญหาประการที่สองนี้เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่อ้างตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายแต่ละรายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาหรือไม่ในปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายในแต่ละสำนวนถูกเรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจากกองปราบปรามโดยมีพฤติการณ์เรียกร้องเงินทำนองเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายในแต่ละสำนวนนั้น จำเลยที่ 1 มีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาหรือไม่ สำหรับสำนวนคดีที่ 1 นอกจากความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควรและเร่งด่วน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ด้วย ซึ่งในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายวินัย ฉลองวงศ์ ผู้เสียหายในสำนวนคดีที่ 1 ว่ามีผู้ชายโทรศัพท์มาถึงพยานแนะนำว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาจากกองปราบปรามยศร้อยตำรวจโทมีธุระจะมาคุยกับพยาน พยานจึงให้มาพบที่บ้าน หลังจากรับโทรศัพท์ประมาณครึ่งชั่วโมง จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหนึ่งคนมาที่บ้านแนะนำตัวว่าชื่อร้อยตำรวจโทโอภาสมาจากกองปราบปรามมาทำงานโดยขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่าย และถามพยานว่าจะให้เท่าใด พยานเป็นนักการพนันเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมาขอเงินกลัวจะถูกจับกุม เพราะในบ้านของพยานมีการลักลอบเล่นการพนันเป็นประจำ จึงบอกว่าจะให้10,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอ 15,000 บาท พยานจึงให้เงินจำนวนดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้แกล้งกล่าวหาผู้เสียหายในข้อหาใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแต่ประการใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่พูดขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้ จำเลยที่ 1มิได้กระทำการอันใดอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน จำเลยที่ 1 ยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ
สำนวนคดีที่ 2 ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากนายแสงทิพย์และนายอรุณผู้เสียหายแต่ละรายหากไม่ยอมให้เงินจะจับกุมจนผู้เสียหายทั้งสองรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1 แม้ปรากฏตามคำเบิกความของนายแสงทิพย์และนายอรุณผู้เสียหายทั้งสองว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหลักฐานการยืนยันการกระทำผิดของผู้เสียหายทั้งสองรายนี้ ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายหลายรายในเวลาไล่เลี่ยกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด ข่มขืนใจและจูงใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องเอาเงินเท่านั้นดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองรายหากไม่ยอมให้จะจับกุม จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบและฐานกรรโชก
สำนวนคดีที่ 3 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากนายไพรินทร์ กาญจนพงศาเวชผู้เสียหายโดยกล่าวในทำนองว่าถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณีนายไพรินทร์ผู้เสียหายตกลงให้เงินกับจำเลยที่ 1 เพราะนายไพรินทร์เป็นประธานชมรมชาวเหนือและเป็นหัวหน้าผู้อำนวยการคุมผู้หญิงที่ประกอบอาชีพพิเศษซึ่งหมายถึงหญิงค้าประเวณีในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก และนายไพรินทร์ตกลงให้เงินเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในพวกสมาชิกหญิงที่มีอาชีพรับจ้างค้าประเวณีดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากนายไพรินทร์ผู้เสียหายหากไม่ยอมให้จะจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี ซึ่งอยู่ในความดูแลของนายไพรินทร์ผู้เสียหาย โดยพฤติการณ์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้นายไพรินทร์ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมหญิงค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของนายไพรินทร์ผู้เสียหาย ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าขณะข่มขู่ดังกล่าวมีการค้าประเวณีกันจริง กรณีจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบและฐานกรรโชก
สำหรับสำนวนคดีที่ 4 สำนวนคดีที่ 5 และสำนวนคดีที่ 6ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากนายสุรพลเลาประสพวัฒนา นายสัมพันธ์ ห่อมา และนายขม สุวรรณประเสริฐผู้เสียหายทั้งสามในสำนวนคดีที่ 4 นายยะปาร์ เจ๊ะมะผู้เสียหายในสำนวนคดีที่ 5 และนายกิตติ หล่อไพบูลย์ ผู้เสียหายในสำนวนคดีที่ 6 หากผู้เสียหายในสำนวนคดีที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ไม่ยอมให้เงินจะจับกุมจนผู้เสียหายทุกรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1 ไปนั้นไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายในแต่ละสำนวนดังกล่าวกระทำการอันเป็นความผิดแต่ประการใด และตามพฤติการณ์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 มีเจตนามาแต่แรกที่จะเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น จึงแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายดังกล่าวกรณีจึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายเพื่อให้ยอมให้เงินเข้าลักษณะอันเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ด้วย และโดยที่การข่มขืนใจผู้เสียหายแต่ละรายในแต่ละสำนวนแยกจากกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมสำหรับความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการสุดท้ายมีว่า การรวมโทษทุกกระทงความผิดจะต้องรวมแล้วไม่เกินกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความผิดกระทงหนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกอย่างสูง 5 ปี และไม่เกิน 10 ปี การรวมโทษทุกกระทงเมื่อรวมแล้วจึงต้องไม่เกินกำหนด 20 ปีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดกระทงที่หนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินกำหนด 50 ปี
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีที่ 1 ไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 และมาตรา 72 วรรคสามและไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 40 ปี 4 เดือน

Share