แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทจากจำเลยที่2โดยมิได้คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่1แล้วคดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีหนี้ที่จำเลยที่1จะต้องชำระแก่จำเลยที่2ตามเช็คพิพาทหรือไม่เพราะเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยที่1ผู้สั่งจ่ายกับจำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนจำเลยที่1หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบันได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา916ประกอบด้วยมาตรา989จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาสะพานพระนั่งเกล้า จำนวน 2 ฉบับ เช็คทั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์รับเช็คทั้งสองฉบับจากผู้มีชื่อซึ่งนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมต้นเงินตามเช็คทั้งสองฉบับและดอกเบี้ยเป็นเงิน257,162 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 257,162 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินตามเช็คทั้งสองฉบับจำนวนเงิน 241,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ รวมเงินตามเช็ค 241,250 บาท เพื่อเป็นหลักประกันการสั่งซื้อผ้า แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สั่งอายัดเช็คทั้งสองฉบับเนื่องจากผู้ขายผ้าไม่ได้ส่งผ้าตามจำนวนที่สั่งซื้อและเช็คที่จำเลยที่ 1 อายัดมีทั้งหมด 9 ฉบับเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน การที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเป็นการสมคบกับผู้ขายผ้าให้แก่จำเลยที่ 1โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน257,162 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน241,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยให้ผลของคำพิพากษาผูกพันจำเลยที่ 2 คู่ความในศาลชั้นต้นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสะพานพระนั่งเกล้า จำนวน2 ฉบับ ซึ่งเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำนวนเงิน 128,300 บาทและจำนวนเงิน 112,950 บาท ลงวันที่ 21 มีนาคม 2533 ทั้งสองฉบับโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค โจทก์ได้นำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาท่าพระโดยผ่านสาขาเจริญนคร เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองฉบับตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน มีปัญหาที่โจทก์ฎีกา 2 ประการ คือ มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่ และโจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากผู้ทรงคนก่อนโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หรือไม่ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาจากผู้ทรงคนก่อนโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หรือไม่ก่อน ปัญหานี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1คงมีตัวจำเลยที่ 1 มาเบิกความว่าหลังจากสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ส่งผ้าแก่จำเลยที่ 1ตามกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ติดต่อไปยังจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ปิดกิจการและหลบหนีไป จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2จะนำเอาเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปชำระหนี้แก่นายกำธรหรือไม่และจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าระหว่างโจทก์กับนายกำธรจะมีมูลหนี้ต่อกันอย่างไร และที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหนี้ต่อกัน จำเลยที่ 1 ก็กล่าวอ้างลอย ๆไม่ได้ให้เหตุผลว่าโจทก์ทราบได้อย่างไร ส่วนโจทก์มีตัวโจทก์และนายกำธร พลอยองุ่นศรี มาเบิกความว่า จำเลยที่ 2มอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้นายกำธรเพื่อชำระหนี้เงินยืมแก่นายกำธร และนายกำธรนำไปชำระหนี้เงินยืมต่อให้โจทก์ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยมิได้คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเป็นทอด ๆ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยชอบนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วย่อมไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่ามีหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่เพราะเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนจำเลยที่ 1 หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบันได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 15,912 บาท ให้จำเลย 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ