คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปและตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9, 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9, 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 มีผลเป็นการยกเลิกความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน และรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 แต่กำหนดให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานยังคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 9 มาตรา 72 และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในมาตรา 102 มาตรา 122 ภายหลังจากนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ในมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อันมีผลให้ความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนดและฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานตามมาตรา 9 และมาตรา 72 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 อันจะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ทั้งไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 102 และมาตรา 122 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 102 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป จึงมีผลให้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง มิใช่ไม่มีผลบังคับในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดังที่ฎีกาเท่านั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 อันเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share