คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 157, 162 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง วรรคสอง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6, 14 วรรคสาม วรรคสี่ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 3, 8
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6, 14 วรรคหนึ่ง (1) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 5,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อนางยุพิน และทางไต่สวนพยานหลักฐานในคดี (เดิม) คดีหมายเลขแดงที่ 258 ถึง 359/2560 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อนางสาวยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 จึงเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ความว่า ขณะเกิดเหตุนายรณภพหรือมหศร ซึ่งรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 6 ว) มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ในเขตสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ส่วนร้อยตรีชยันต์ รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 8) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอแม่อาย ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ในฐานะนายทะเบียนอำเภอหรือในฐานะนายอำเภอ นายรณภพและร้อยตรีชยันต์เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่อนุญาตหรืออนุมัติ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฏรและกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว นายรณภพและร้อยตรีชยันต์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 กล่าวคือ เมื่อมีบุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดงให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สอบสวนเจ้าของบ้านผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ ประกอบการพิจารณา (2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักงานทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่ (3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่ (4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้วให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า คำร้องที่ลงวันที่ หรือ หนังสือลงวันที่ แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้ และ (5) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนด เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน นายรณภพและร้อยตรีชยันต์อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนางยุพิน ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ โดยมีจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกระทำความผิดและสนับสนุนการกระทำความผิด นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินโดยฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน ภายหลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว นางยุพินอาศัยโอกาสที่นายทะเบียนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อนุมัติให้เพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) พร้อมแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่านางยุพินมีสัญชาติไทยต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ให้หลงเชื่อว่านางยุพินเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง และขอให้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพิน จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากมีบุคคลใดซึ่งอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) โดยไม่มีเอกสารมาแสดงนั้น กระบวนการภายหลังจากยื่นคำร้องแล้วต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จนกระทั่งกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.1 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ได้อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าวร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนางยุพินซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 และดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินโดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ในการกระทำความผิด และบรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 นางยุพินซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าตนมีสัญชาติไทยต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน อำเภอแม่อาย ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินในที่สุดนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยของประเทศชาติ ทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 มีอายุกว่า 70 ปี เมื่อนับถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว และอาจกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติของจำเลยที่ 1 ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไปชำระภาษีร้านค้า ณ ที่ว่าการอำเภอแม่อาย แล้วพบจำเลยที่ 1 ซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยบังเอิญ จำเลยที่ 1 ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นการรับรองหลานของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาร้าย ทั้งในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความรู้สำนึกในความผิดของตน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share