แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) บัญญัติถึงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ฟ้องต้องมี ได้แก่ การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้น แม้ตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดและเมื่อใด ให้ตราเป็น พ.ร.ฎ ก็ตาม แต่ข้อที่ว่าได้มีการตราเป็น พ.ร.ฎ. แล้วหรือไม่ มิใช่เป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้อง หากแต่เป็นเรื่องการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายซึ่งศาลย่อมต้องรู้เองได้เมื่อปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุมีการตรา พ.ร.ฎ. ให้ใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2546) ดังนี้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้และโดยโจทก์ไม่ต้องกล่าวมาในฟ้อง
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การกระทำเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หมายรวมถึงการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามกรณี ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายบุคคลผู้มีชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลผู้มีชื่อทั้งหมดมิได้อยู่อาศัยจริงอันเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ย่อมถือเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดและครบถ้วนในการกระทำทั้งหลายที่เป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 113 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นบทบัญญัติเพื่อที่จะให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ โดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงนั้นเป็นการจัดตั้งตัวบุคคลเพื่อที่จะให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดอย่างชัดเจน จำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านจึงมีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นแม้การดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมีเจตนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ แต่เมื่อจำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านซึ่งมีสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคนต่อหนึ่งคะแนนประกอบกับการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่ต้องทำเป็นรายบุคคล แม้จะมีการแจ้งย้ายเข้ารวมกันมาในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ใบเดียว ก็ยังต้องถือว่าเป็นความผิดรายกระทงตามจำนวนของบุคคลแต่ละคนที่มีการดำเนินการย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 43, 113 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) (ที่ถูก มาตรา 43 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (2)), 113 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 3 กระทง รวมจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 2 กระทง รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลตำบลสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลสังขะและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งครบวาระ โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ เขตเลือกตั้งที่ 2 หมายเลข 1 ในนามกลุ่มรักสังขะที่มีนางกิ่งกาญจน์ พี่สาวของจำเลยที่ 1 สมัครเป็นนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ นายมิง บิดาจดทะเบียนให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 3994 หมู่ที่ 1 ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 363 ซึ่งเป็นห้องแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น จำนวน 4 ห้อง แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลขรหัสประจำบ้านสำหรับห้องแถวทั้ง 4 ห้อง เพื่อกำหนดเลขหมายและจัดทำทะเบียนบ้านเลขที่ 363, 363/1, 363/2 และ 363/3 จำเลยที่ 1 แจ้งย้ายจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาภริยาของนายฉัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ เขตเลือกตั้งที่ 2 หมายเลข 5 กลุ่มรักสังขะ เข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 ในฐานะเป็นเจ้าบ้านและยินยอมให้นางคูณ ภริยาของจำเลยที่ 2 เข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 ในฐานะผู้อาศัย จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าบ้านยินยอมให้นางบุญเรือน นายกาย นางเสียง และนางหรือนางสาววรรณา ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าบ้านยินยอมให้นายฉันท์ นางแอม และนางอุทัยย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 จำเลยที่ 2 นางคูณ นางบุญเรือน นายกาย นางเสียง นางหรือนางสาววรรณา นายฉันท์ นางแอมและนางอุทัยต่างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามสำเนาบัญชีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ ซึ่งจำเลยที่ 2 และนายฉัตรได้รับเลือกตั้งด้วย ต่อมาจำเลยที่ 2 นางหรือนางสาววรรณาและนางบุญเรือนย้ายออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 โดยย้ายเข้าที่บ้านเลขที่เดิมของตน ตามสำเนาใบรับแจ้งการย้ายออก แต่ก่อนการเลือกตั้งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะหลายคนร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์ว่า มีการย้ายชื่อจำเลยที่ 2 และพวกรวม 9 คน เข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 ของจำเลยที่ 1 โดยบุคคลเหล่านั้นมิใช่ญาติและมิได้อาศัยอยู่จริง คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับรายงานการสืบสวนสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุรินทร์และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยสั่งการในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 1 กับให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำวินิจฉัยสั่งการ
คดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา จึงเห็นควรวินิจฉัยฎีกาไปตามรูปคดี โดยวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อนในประเด็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แม้มิใช่องค์ประกอบความผิด แต่โจทก์ก็ต้องบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามกฎหมายใด เพราะเหตุใด การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาแล้วหรือไม่ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ไม่ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) (6) บัญญัติถึงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ฟ้องต้องมี ได้แก่ การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้น แม้ตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดและเมื่อใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็ตาม แต่ข้อที่ว่าได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วหรือไม่ มิใช่เป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้อง หากแต่เป็นเรื่องการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายซึ่งศาลย่อมต้องรู้เองได้ เมื่อปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุมีการตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2546) ดังนี้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้และโดยโจทก์ไม่ต้องกล่าวมาในฟ้อง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกว่า ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะโดยมิชอบนั้น จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจว่ามิชอบด้วยประการใด วิธีใดและอย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 43 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
กรณีดังต่อไปนี้ให้สันนิษฐานว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบด้วย เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการย้ายโดยมีเหตุผลอันสมควร
(1) การย้ายบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน
(2) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริง
(3) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การกระทำเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หมายรวมถึงการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามกรณีดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายบุคคลผู้มีชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลผู้มีชื่อทั้งหมดมิได้อยู่อาศัยจริง อันเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ย่อมถือเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดและครบถ้วนในการกระทำทั้งหลายที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 113 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องที่มิชอบหรือเคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า นายสิทธิวัชร์และนางพรรณเป็นประจักษ์พยานที่อยู่ใกล้กับบ้านเลขที่ 363/1 โดยนายสิทธิวัชร์เป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ด้วย เชื่อว่าพยานทั้งสองรู้เห็นความเป็นไปของบ้านได้ดี ที่นายสิทธิวัชร์ทราบเพียงว่าเป็นบ้านของบิดานายกเทศบาลตำบลสังขะในลักษณะซึ่งเป็นที่รับรู้ของชาวบ้านทั่วไป บ่งชี้ว่านายสิทธิวัชร์เบิกความไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่พยานรู้เห็นมาโดยมิได้มุ่งปรักปรำผู้ใด ส่วนนางพรรณเป็นเพียงชาวบ้านซึ่งไม่มีเหตุที่ต้องบิดเบือนเรื่องราวให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเช่นกัน คำเบิกความพยานทั้งสองจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง และโจทก์ยังมีนายทวน กำนันตำบลสังขะ เบิกความว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 พยานคงพบเห็นจำเลยที่ 2 และนางคูณอยู่อาศัยที่บ้านเลขที่ 186 หมู่ที่ 16 ตำบลสังขะ เห็นนายกายกับนางเสียงอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 8 ตำบลสังขะ และนางบุญเรือนอยู่อาศัยที่บ้านเลขที่ 176 หมู่ที่ 4 ตำบลสังขะ มาโดยตลอด การที่พยานทั้งสี่คงพบเห็นจำเลยที่ 2 และพวกอยู่อาศัยในบ้านของตนตลอดมาโดยไม่ได้ไปอยู่อาศัยที่อื่น ย่อมเป็นการสอดรับกับที่นายสิทธิวัชร์และนางพรรณไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 และพวกไปอยู่อาศัยที่บ้านเลขที่ 363/1 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 และนางคูณย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน โดยให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นเจ้าบ้าน จากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าบ้านยินยอมให้นางบุญเรือน นายกาย นางเสียง นางหรือนางสาววรรณา นายฉันท์ นางแอมและนางอุทัยย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน ไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนการครบวาระการดำรงตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 และพวกทั้ง 9 คน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 33 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ประกอบกับหลังเลือกตั้งจำเลยที่ 2 นางหรือนางสาววรรณาและนางบุญเรือนต่างย้ายออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 โดยย้ายเข้าที่บ้านเลขที่เดิมของตน ย่อมมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันวางแผนย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านก็เพื่อที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะและนายกเทศมนตรีตำบลสังขะนั่นเอง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการย้ายจำเลยที่ 2 และนางคูณ และจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการย้ายนางบุญเรือน นายกาย นางเสียง นางหรือนางสาววรรณา นายฉันท์ นางแอมและนางอุทัยเข้ามาในทะเบียนบ้านเลขที่ 363/1 โดยบุคคลดังกล่าวมิได้อยู่อาศัยจริง อันเป็นการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ แม้เป็นเพียงการยินยอมให้บุคคลย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านก็เรียกได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบแล้ว จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 113 ส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีอื่นซึ่งมีข้อเท็จจริงเหมือนกันกับคดีนี้ ก็เป็นดุลพินิจในแต่ละคดี ไม่มีผลผูกพันคดีอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นบทบัญญัติเพื่อที่จะให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ด้วยการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงนั้น เป็นการจัดตั้งตัวบุคคลเพื่อที่จะให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดอย่างชัดเจน จำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านจึงมีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง เพราะหากย้ายเข้ามาจำนวนมากย่อมมีผลทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านมีโอกาสชนะการเลือกตั้งสูง อันมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น แม้การดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมีเจตนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ แต่เมื่อจำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านซึ่งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคนต่อหนึ่งคะแนนมีผลต่อการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งซึ่งแตกต่างกันมาก ประกอบกับการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่ต้องทำเป็นรายบุคคล แม้จะมีการแจ้งย้ายเข้ารวมกันมาในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ใบเดียว ก็ยังต้องถือว่าเป็นความผิดรายกระทงตามจำนวนของบุคคลแต่ละคนที่มีการดำเนินการย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน จึงมิใช่เป็นความผิดเพียงกรรมเดียวและไม่เป็นความผิดตามจำนวนครั้งตามใบแจ้งการย้ายที่อยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการย้ายจำเลยที่ 2 และนางคูณรวม 2 คน แต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ดำเนินการย้ายจำเลยที่ 2 เข้ามาในทะเบียนถือเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญและจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการย้ายนางบุญเรือน นายกาย นางเสียง นางหรือนางสาววรรณา นายฉันท์ นางแอมและนางอุทัย รวม 7 คน เข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดในส่วนดำเนินการย้ายจำเลยที่ 2 คงมีความผิดเพียงกรรมเดียว และร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดอีก 7 กรรม รวมเป็น 8 กรรม ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดรวม 7 กรรม แต่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เพียง 3 กรรม และลงโทษจำเลยที่ 2 เพียง 2 กรรม จึงคงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เท่าที่โจทก์มีคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเพียงกรรมเดียว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า กระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิด 8 กรรม จำเลยที่ 2 มีความผิด 7 กรรม แต่คงลงโทษจำเลยที่ 1 เพียง 3 กรรม และลงโทษจำเลยที่ 2 เพียง 2 กรรม ตามที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษ จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยที่ 1 รวมจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 รวมจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3