คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14556/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่า เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะต้องร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือในระยะเวลาใด เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์และมีหนังสือขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเป็นระยะเวลาที่เลยกำหนด พ.ร.ฎ.เวนคืนใช้บังคับแล้วก็ตาม ไม่ทำให้อุทธรณ์และหนังสือแจ้งร้องขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนสิ้นสิทธิอุทธรณ์และสิ้นสิทธิร้องขอให้ซื้อที่ดินไปด้วย เพราะมิฉะนั้นก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนไปรับเงินค่าทดแทนใกล้กับวันครบกำหนดใช้บังคับตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน อันจะทำให้ความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลบังคับไปในตัว ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผลความถูกต้องและความยุติธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 4,297,888 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,940,757 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน 350,000 บาท และค่ารื้อถอนอาคารเพิ่มจำนวน 13,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินจำนวน 11 ตารางวา ของโจทก์ในราคา 1,320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 96298 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 16 ตารางวา พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 5/15 หมู่ที่ 6 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2537 เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์ และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์ – เพชรเกษม – รัตนาธิเบศร์ เนื้อที่ 5 ตารางวา ที่ดินคงเหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 11 ตารางวา โดยโจทก์จะต้องรื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 5/15 ออกไปด้วย คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 70,000 บาท เป็นเงิน 350,000 บาท เงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 787,783 บาท เงินค่ารื้อย้ายมิเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 4,550 บาท เงินค่ารื้อย้ายมาตรประปาจำนวน 5,045 บาท เงินค่ารื้อย้ายทรัพย์สินจำนวน 10,860 บาท รวมเป็นเงิน 1,158,238 บาท เจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มรวมทั้งขอให้ซื้อที่ดิน ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนต่อจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 11 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 230,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อแรกว่า โจทก์สมควรได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 5 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 120,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มตารางวาละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 250,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นประชุมครั้งที่ 12/2540 ลงมติว่า ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ปี 2539 ถึงปี 2542 เป็นแนวทางในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 70,000 บาท ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 (3) เป็นสำคัญ ไม่ได้นำราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 21 (1) มาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง ทั้งยังปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ครั้งที่ 8/2539 ว่า โครงการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรี มีข้อมูลราคาตลาดว่า ตึกแถวเนื้อที่ 18 ตารางวา สภาพอาคาร 4 ชั้นครึ่ง อายุประมาณ 10 ปี ราคาประกาศขายห้องละ 4,500,000 บาท หักค่าก่อสร้างและค่าเสื่อมแล้วเหลือราคาที่ดิน 3,751,200 บาท หรือราคาตารางวาละ 208,400 บาท ซึ่งสภาพตึกแถวและสภาพที่ดินใกล้เคียงกับตึกแถวและที่ดินของโจทก์ แต่ของโจทก์ด้อยกว่าเพราะมีเนื้อที่ 16 ตารางวา และตามโฉนดที่ดินปรากฏว่ามีการออกโฉนดที่ดินอันแสดงว่ามีการสร้างตึกแถวประมาณปีดังกล่าว ซึ่งเป็นเวลาก่อนใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนนานถึงประมาณ 15 ปี อย่างไรก็ดีรายงานการประชุมในหน้า 17 ได้ทำตารางสรุปราคาของที่ดินไว้ว่า ที่ดินติดถนนพิบูลสงคราม ราคาประเมินมูลค่าที่ดิน 108,000 บาท ถึง 120,000 บาท ต่อตารางวา แม้โครงการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรี เป็นอีกโครงการหนึ่งแยกต่างหากจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์ – เพชรเกษม – รัตนาธิเบศร์ ซึ่งเวนคืนที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ.2537 เพื่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรีว่า มีการตราพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาภายหลังจากมีการตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโจทก์ซึ่งตราเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 เพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น ทั้งพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโจทก์ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ห่างจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 เพียงประมาณ 2 เดือน ราคาของที่ดินจึงไม่น่าที่จะแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ ราคาของที่ดินในโครงการก่อสร้างถนนสายเลี่ยงเมืองนนทบุรีเป็นที่ดินตั้งอยู่ถนนพิบูลสงครามและตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์ จึงน่าที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ได้ เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 70,000 บาท ได้คำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นสำคัญ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืน เมื่อเอกสารของฝ่ายจำเลยระบุว่าที่ดินติดถนนพิบูลสงครามมีมูลค่าที่ดินถึงตารางวาละ 120,000 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 120,000 บาท จึงน่าจะเป็นธรรมแก่ทั้งโจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น โจทก์จึงสมควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 50,000 บาท ที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 5 ตารางวา เป็นเงิน 250,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จากราคาตารางวาละ 70,000 บาท เป็นราคาตารางวาละ 100,000 บาท และแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงต้องได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มจากที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยอีกตารางวาละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่ม 100,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องร้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 11 ตารางวา ได้หรือไม่ หากฟ้องได้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องซื้อในราคาใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินของโจทก์เหลือจากการเวนคืนเพียง 11 ตารางวา ย่อมเป็นจำนวนที่น้อยกว่า 25 ตารางวา จึงอยู่ในเกณฑ์ที่โจทก์จะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 11 ตารางวา อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2537 เลยกำหนดเวลาใช้บังคับแล้วเนื่องจากตามมาตรา 3 บัญญัติให้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับได้มีกำหนด 4 ปี โดยตามมาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 จึงใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2537 ไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2541 ปัญหาจึงมีว่าโจทก์จะร้องขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้หรือไม่ เมื่อพระราชกฤษฎีกาเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ดังนั้น หลักเกณฑ์การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นสำคัญ ซึ่งตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะต้องร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือในระยะเวลาใด เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์และมีหนังสือขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่เลยกำหนดพระราชกฤษฎีกาเวนคืนใช้บังคับแล้วก็ตาม ไม่ทำให้อุทธรณ์และหนังสือแจ้งร้องขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนสิ้นสิทธิอุทธรณ์และสิ้นสิทธิร้องขอให้ซื้อที่ดินไปด้วย เพราะมิฉะนั้นก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนไปรับเงินค่าทดแทนใกล้กับวันครบกำหนดใช้บังคับตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืน อันจะทำให้ความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไม่มีผลบังคับไปในตัว ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผลความถูกต้องและความยุติธรรม โดยจะเห็นได้จากเมื่อพระราชกฤษฎีกาครบกำหนดใช้บังคับแล้วยังมีการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เช่น จำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งโจทก์เรื่องแจ้งการวางทรัพย์และแจ้งเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน โจทก์ยื่นเรื่องขออุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน อธิบดีกรมทางหลวงชนบทมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีคำวินิจฉัยให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่ม ตามเอกสารท้ายฎีกาโจทก์เป็นต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากโจทก์ยื่นเรื่องขอให้จำเลยที่ 3 จัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแล้ว ฝ่ายสำรวจและประมาณราคา กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อความเรื่อง ขอให้ซื้อที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนถึงผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อพิจารณาให้ฝ่ายจัดหาที่ดินดำเนินการขออนุมัติให้เจ้าหน้าที่เวนคืนจัดซื้อได้ และให้ใช้ราคาตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น กำหนดตามบันทึกข้อความ ซึ่งล้วนแต่เป็นการดำเนินการภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเลยกำหนดเวลาใช้บังคับแล้วเช่นกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าแม้พระราชกฤษฎีกาครบกำหนดใช้บังคับแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนตามกฎหมายมาทำหน้าที่ตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ได้ หาใช่ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแต่อย่างใด ประกอบกับโจทก์ฟ้องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนด้วย ไม่ได้ฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่ ทั้งการเวนคืนทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ไปซึ่งที่ดินของโจทก์ผู้ถูกเวนคืนแล้วทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลกระทบจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาครบกำหนดใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนตามกฎหมายทำหน้าที่ตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและมิได้มีคำวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่โต้แย้งสิทธิโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 11 ตารางวา ได้ ส่วนโจทก์มีสิทธิร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้ในราคาใดนั้น เมื่อศาลฎีกาคณะคดีปกครองได้วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 120,000 บาท โจทก์จึงชอบที่ร้องขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ในราคาตารางวาละ 120,000 บาท เช่นเดียวกัน ที่ดินเนื้อที่ 11 ตารางวา เป็นเงินค่าที่ดินจำนวน 1,320,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กระทรวงคมนาคม ที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ 2 กรมทางหลวงชนบท ที่ 3 และอธิบดีกรมโยธาธิการ ที่ 4 ยื่นคำร้องว่า เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 54 ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 เฉพาะที่เกี่ยวกับกรมโยธาธิการจำเลยที่ 3 มาเป็นของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม และมาตรา 161 บรรดาอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งใดของส่วนราชการหรือของส่วนหนึ่งส่วนใดของส่วนราชการที่โอนมาหรือของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดและผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของส่วนราชการที่โอนมาดังกล่าว ให้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการที่รับโอนหรือของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการที่รับโอนดังกล่าวแล้วแต่กรณี เป็นเหตุให้บรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 เฉพาะที่เกี่ยวกับกรมโยธาธิการจำเลยที่ 3 โอนไปเป็นของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสี่เข้าสวมสิทธิเป็นจำเลยทั้งสี่แทนจำเลยทั้งสี่เดิมด้วย ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้สั่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ดังกล่าว แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาโดยผู้ร้องทั้งสี่ได้นำพยานเข้าสืบตามคำร้องจนสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ โดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาคณะคดีปกครองพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสี่แล้ว เห็นว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้โอนกรมโยธาธิการจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสี่เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยทั้งสี่เดิมในคดีนี้ตามลำดับ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้จ่ายเพียง 100,000 บาท และค่ารื้อถอนอาคารให้จ่ายเพิ่มจำนวน 20,400 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท

Share