แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอื่นของศาลชั้นต้น จำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อ แม้ขณะที่คดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวจะยังไม่ได้พิพากษาเพิ่งจะมีคำพิพากษาเมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นฎีกา โดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงให้ศาลทราบแล้ว เช่นนี้ เป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษต่อได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,357, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 และให้นับโทษต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขดำที่ 2141/2529 จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 2456/2529และจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 4546/2529 ของศาลชั้นต้น จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357(ที่ถูกเป็นมาตรา 357 วรรคแรก), 83 จำคุก 2 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี 4 เดือนโจทก์ฎีกาและยื่นคำแถลงว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 8791/2529, คดีหมายเลขแดงที่ 8882/2529 และคดีหมายเลขแดงที่ 8717/2529 ตามลำดับ โดยลงโทษจำคุกจำเลยทุกคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ได้ขอให้นับโทษต่อไว้แล้ว และจำเลยก็รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ทั้งต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำแถลงในชั้นฎีกาให้ศาลทราบว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้นศาลได้มีคำพิพากษาแล้วดังนั้นจึงชอบที่จะนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งได้”
พิพากษายืน แต่ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8791/2529 จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8882/2529 และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8717/2529ของศาลชั้นต้น