คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินที่จำเลยได้รับมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยกับผู้ร้องจะสมรสกันก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ ก็ยังต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่นี้มาใช้บังคับ เมื่อจำเลยฝ่ายเดียวได้ที่ดินดังกล่าวมาระหว่างสมรสโดยการยกให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ส่วนที่ดินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรสก่อนหน้านี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า บิดายกให้จำเลยแต่ผู้เดียวหรือให้ผู้ร้องด้วย จึงต้องเป็นไปตามบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ตอนท้าย ที่ให้ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย. แม้ผู้ร้องกับจำเลยจะร่วมกันกระทำหนี้ละเมิด แต่ก็เป็นการเฉพาะตัวของผู้ร้องกับจำเลยไม่เกี่ยวกับกิจการอันจำเป็นในครอบครัวหรือเกี่ยวข้องกับสินสมรส หรือเกิดจากการงานที่ทำด้วยกันในฐานะที่เป็นสามีภริยา จึงไม่เป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย จึงไม่อาจจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือสินสมรสตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 489 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 958 และ 2050 รวม 3 แปลง โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาด เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นภริยาของจำเลย ที่ดินที่โจทก์นำยึด คือ ที่ดิน น.ส.3เลขที่ 464 และที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 958 และ 2050 นั้นเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่ภริยาของจำเลย ที่ดินที่โจทก์นำยึดนั้นเป็นสินเดิม (สินส่วนตัว) ของจำเลยผู้ร้องมีส่วนร่วมกันกับจำเลยในการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยและผู้ร้องเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2517ที่ดินที่โจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดทั้งสามแปลงเป็นสินสมรส ผู้ร้องมีส่วนร่วมกับจำเลยในการทำละเมิดต่อโจทก์ มีคำสั่งยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กันเงินที่ได้จากภารขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 958 และ 2050 ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาเกี่ยวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 489 ว่านายรื่น ทองเอื้อ ขายให้จำเลยเป็นการได้ที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนไม่ใช่ได้มาโดยการให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินสมรส และว่าผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1471(3) บทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่จำเลยและผู้ร้องนั้นโจทก์เบิกความว่า นายรื่นพี่ชายจำเลยยกให้จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทนและตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นหนังสือยกที่ดินให้จำเลยก็มีข้อความว่า ให้โดยเสน่หาไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ในฐานะเป็นน้อง เห็นว่าเจ้าพนักงานผู้บันทึกได้ปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ปฏิบัติไปตามคำบอกเล่าของคู่สัญญา ไม่ได้นึกคิดขึ้นเอง การบันทึกดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าคำเบิกความลอย ๆ ของผู้ร้อง เชื่อว่าจำเลยได้รับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 489โดยไม่มีค่าตอบแทน แม้จำเลยกับผู้ร้องจะสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแต่หนังสือยกที่ดินให้ดังกล่าว ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2520 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่นั้น เมื่อจำเลยฝ่ายเดียวได้ที่ดินดังกล่าวมาระหว่างสมรส โดยการยกให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3)ชอบที่เจ้าหนี้จะยึดมาบังคับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน ฎีกาของผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ข้อแรกที่ว่า ไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 489 เป็นแปลงเดียวกับเลขที่ 464 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า น.ส.3 เลขที่ 489 เป็นสินส่วนตัว โจทก์ยึดมาชำระหนี้ได้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องกันส่วนแบ่งให้ผู้ร้องแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่า เป็นที่ดินแปลงเดียวกับ น.ส.3เลขที่ 464 หรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาในข้อต่อมาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 958 และ 2050 จำเลยได้รับมาจากบิดาโดยการให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวนั้น ปรากฏตามเอกสาร จ.6,จ.7 ซึ่งเป็นบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศที่จำเลยยื่นคำร้องต่อทางราชการ ทางราชการได้ประกาศการรับรองการทำประโยชน์ เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2523 และ 5 มีนาคม 2523 ซึ่งแสดงว่าจำเลยยื่นคำร้องต่อทางราชการใน พ.ศ. 2523 ในหัวข้อเรื่องที่แจ้งต่อทางราชการว่าได้ที่ดินมาอย่างไร จำเลยแจ้งว่าได้รับการยกให้จากบิดาประมาณ 3 และ 5 ปี ตามลำดับ ซึ่งแสดงว่าจำเลยได้มาหลังจากการสมรสกับผู้ร้อง เมื่อ พ.ศ. 2517 แล้ว จึงเป็นการได้ที่ดินมาระหว่างสมรส เมื่อไม่ปรากฏตามเอกสารของฝ่ายใดว่า บิดายกให้จำเลยแต่ผู้เดียวหรือให้ผู้ร้องด้วย จึงต้องเป็นไปตามบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ตอนท้าย ซึ่งให้ถือว่าเป็นสินสมรส ฉะนั้น ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1)
สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีส่วนร่วมในการละเมิดและเป็นหนี้ร่วมที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า การร่วมกันกระทำละเมิดเป็นหนี้ร่วมธรรมดา โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยย่อมจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือสินสมรสมิได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ทั้งการทำละเมิดของจำเลยก็เป็นการเฉพาะตัวของผู้กระทำโดยตรงไม่เกี่ยวข้องกับกิจการอันจำเป็นในครอบครัว หรือเกี่ยวข้องกับสินสมรส หรือเกิดจากการงานที่ผู้ร้องกับจำเลยทำด้วยกันในฐานะที่เป็นสามีภริยากัน จึงไม่เป็นหนี้ร่วมตามนัยมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ร้องไม่ต้องผูกพันในมูลหนี้ดังกล่าวและมีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนได้ ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share