คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29วรรคสอง. การกระทำที่เป็นการลวงขายมีความหมายกว้างขวางมาก. ไม่จำเป็นว่าสินค้าที่ทำขึ้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น.ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ไม่ใช่แต่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้น. หากรวมถึงการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย.
จำเลยใช้เครื่องหมายสินค้าหมากฝรั่งของจำเลยในหีบห่อเหมือนบุหรี่ของโจทก์ตลอดจนลักษณะและสี. คือ ใช้พื้นสีแดง อักษรสีขาว กลางซองบุหรี่ด้านหน้าทำเป็นรูปวงกลมรี เป็นรูปไข่ขนาดเท่ากัน. ผิดแต่แทนที่จะเป็นอักษรคราเว่นเอทำเป็นอักษรโปรเกรส เหนือวงกลมนี้ขึ้นไปเป็นรูปแมวสีดำ รูปร่างหน้าตาขนาดเดียวกัน. แต่ของจำเลยยึดลำตัวสูงกว่าเล็กน้อย อยู่ระหว่างตัวอักษร คำว่าคอร์คทิป เช่นเดียวกัน. ซองด้านหลังทำเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมมุมกรอบทั้งสี่ข้างทำเป็นรูปและขนาดเดียวกัน. แต่ของโจทก์เป็นอักษรภาษาอังกฤษ ของจำเลยเป็นอักษรไทย. ใต้กรอบลงมามีอักษรฝรั่งสีดำขนาดตัวอักษรเดียวกัน. ด้านข้างของกล่องบุหรี่พิมพ์ด้วยอักษรสีขาวของโจทก์ว่า คราเว่นเอ10ของจำเลยก็เป็นโปรเกรส10. ด้านข้างอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวหนังสือสีขาวเช่นเดียวกัน ของโจทก์ว่า เมดอินอิงแลนด์ ของจำเลยเป็น โปรเกรส 10 เหมือนกัน. ทั้งสองข้าง ใต้รูปไข่ด้านหน้า มีอักษรตัวโตขนาดเดียวกันเด่นชัดว่าซิกาแรต เพียงแต่สลับที่กัน. ของโจทก์อยู่ชิดขอบซองแถวล่าง. ของจำเลยอยู่ถัดแถวล่างสูงขึ้นไปบรรทัดหนึ่ง.ผิดกันแต่คำว่า เวอร์ยินเนียกับชิวอิงกัม เท่านั้น. จริงอยู่แม้รูปจะผิดเพี้ยนกันบ้างเล็กน้อยแต่การวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าจะต้องให้เหมือนกันทุกสิ่งอย่างหามิได้. เพียงแต่ให้เห็นว่าเครื่องหมายนั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันหรือเกือบเหมือนสินค้าของโจทก์ก็พอแล้ว. ทั้งจำเลยก็รับว่าได้เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนแล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเอารูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยโดยไม่สุจริต. ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าจำเลยนำเอาหีบห่อในลักษณะ ขนาด และสีเช่นเดียวกับของโจทก์ไปใช้กำกับสินค้าหมากฝรั่งของจำเลย. ย่อมเป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว. เป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิจะทำได้. ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้ายาบุหรี่ใช้เครื่องหมายการค้าจำพวก 45 เป็นอักษรโรมันว่า CRAVEN.A หีบห่อบุหรี่มีรูปแมวดำตอนบนพื้นสีแดง มีอักษรสองข้างแมวว่า ค๊อกทิมด์ ตอนกลางห่อมีคำว่าCRAVEN.A ตอนล่างมีอักษรอังกฤษว่า Virginia Cigarettes ด้านหลังมีรูปแมวดำกับป้ายขาวบนพื้นสีแดง ด้านข้างมีคำว่า CRAVEN.A 10โจทก์ผลิตและสั่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนานแล้ว จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2497 และต่ออายุ พ.ศ. 2504 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2507 จำเลยได้ผลิตสินค้าหมากฝรั่งโดยใช้หีบห่อเลียนแบบหีบห่อของโจทก์ คือ ได้ทำหีบห่อบรรจุสินค้าเป็นหีบห่อสีแดง มีรูปแมวดำข้างบน กับคำว่า ค๊อกทิบด์ เหมือนของโจทก์ตอนกลางทำป้ายสีขาวรูปไข่ตอนล่างใช้คำว่า ซิกาแร๊ต ชิวอิงกัมรูปลักษณะคล้ายของโจทก์มาก ด้านหลังมีรูปแมวดำและป้ายสีขาวบนพื้นสีแดงลักษณะเหมือนของโจทก์ อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายในทางชื่อเสียงการค้า (กูดวิล = goodwill) และทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ฯลฯ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและงดใช้หีบห่อดังกล่าว จำเลยให้การว่าไม่ได้เลียนตัวอย่างหีบห่อยาบุหรี่ของโจทก์สินค้าโจทก์จำเลยเป็นคนละอย่างต่างประเภทกัน ฯลฯ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่ได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรค 2 แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการลวงขายนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยเพราะการกระทำที่ถือว่าเป็นการลวงขายมีความหมายกว้างขวางมาก ไม่จำเป็นว่าสินค้าที่ทำขึ้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้นซึ่งแปลความหมายได้ว่า ไม่ใช่แต่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้นหากรวมถึงการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย อย่างเช่นกรณีในคดีนี้จำเลยใช้เครื่องหมายสินค้าหมากฝรั่งของจำเลยในหีบห่อเหมือนบุหรี่ของโจทก์ตลอดจนลักษณะและสี คือ ใช้พื้นสีแดง อักษรสีขาว กลางซองบุหรี่ด้านหน้าทำเป็นรูปวงกลมรี เป็นรูปไข่ขนาดเท่ากัน ผิดแต่แทนที่จะเป็นอักษร คราเว่น เอ ทำเป็นอักษรโปรเกรส เหนือวงกลมนี้ขึ้นไปเป็นรูปแมวสีดำ รูปร่างหน้าตาขนาดเดียวกัน แต่ของจำเลยยึดลำตัวสูงกว่าเล็กน้อย อยู่ระหว่างตัวอักษรคำว่า คอร์ด ทิป เช่นเดียวกันซองด้านหลังทำเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยม มุมกรอบทั้งสี่ข้างทำเป็นรูปและขนาดเดียวกัน แต่ของโจทก์เป็นอักษรภาษาอังกฤษ ของจำเลยเป็นอักษรไทย ใต้กรอบลงมามีอักษรฝรั่งสีดำ ขนาดตัวอักษรเดียวกันด้านข้างกล่องบุหรี่พิมพ์ด้วยอักษรสีขาวของโจทก์ว่า คราเว่น เอ 10ของจำเลยก็เป็นโปรเกรส 10 ด้านข้างอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวหนังสือสีขาวเช่นเดียวกัน ของโจทก์ว่า เมดอินอิงแลนด์ของจำเลยเป็นโปรเกรส 10 เหมือนกันทั้งสองข้าง ใต้รูปไข่ด้านหน้าอักษรตัวโตขนาดเดียวกันเด่นชัดว่า ซิกาแรต เพียงแต่สลับที่กันของโจทก์อยู่ชิดขอบซองแถวล่าง ของจำเลยอยู่ถัดแถวล่างสูงขึ้นไปบรรทัดหนึ่ง ผิดกันแต่คำว่า เวอรยินเนีย กับ ชิวอิงกัม เท่านั้นจริงอยู่แม้รูปจะผิดเพี้ยนกันบ้างเล็กน้อย แต่การวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าจะต้องให้เหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่างหามิได้เพียงแต่ให้เห็นว่าเครื่องหมายนั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันหรือเกือบเหมือนสินค้าของโจทก์ก็พอแล้ว ทั้งจำเลยก็รับว่าได้เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนแล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเอารูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยโดยไม่สุจริต ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 38/2503 ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าจำเลยนำเอาหีบห่อในลักษณะขนาดสีเช่นเดียวกับของโจทก์ไปใช้กำกับสินค้าหมากฝรั่งของจำเลย ย่อมเป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ปัญหาต่อไปมีว่า เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ควรจะได้รับค่าเสียหายเพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัด ศาลก็ชอบที่จะประมาณความเสียหายให้ได้ตามสมควรโดยเฉพาะในคดีนี้คิดให้รวม5,000 บาท พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน5,000 บาทแก่โจทก์ และให้งดใช้เครื่องหมายรายนี้ของจำเลยทันที.

Share