คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9200/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลา 7 วันแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายและอุทธรณ์คำสั่งเป็นอุทธรณ์อย่างหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 232 คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ยืมจำนวน 64,259,782.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา MLR ตามประกาศของโจทก์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี และไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดตามประกาศของโจทก์และที่โจทก์ขอ นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 15,628,525.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้หักเงิน ซึ่งมีการชำระเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2541 จำนวน 6,742.46 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์เสียก่อน หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 85312, 85313, 77470, 77471 ตำบลบางไผ่
(บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 1046 ตำบลคลองขวาง (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์โดยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ให้จำเลยที่ 3 นำมาชำระภายใน 15 วัน วันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ให้ยกคำร้อง (ที่ถูกคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่ง) แก่จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เป็นหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องฉบับนี้ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวการที่ศาลชั่นต้นมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลา 7 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายแล้วจึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ต้องห้ามตามกฎหมาย และอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเป็นอุทธรณ์อย่างหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 232 นั่นเอง คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share