แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยรับจ้างโจทก์ขนถ่ายรถยนต์ที่โจทก์สั่งซื้อมาจากต่างประเทศขึ้นจากเรือและรับฝากไว้ที่ลานพักสินค้ากลางแจ้งของจำเลย การที่จำเลยขนถ่ายรถยนต์ทั้งหมดขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลยโดยมีการคิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วยซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากทรัพย์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น 6 เดือนนับจากวันที่โจทก์รับรถยนต์คืนไปจากจำเลยอันเป็นเวลาสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อฮุนได (HYUNDAI) ที่ผลิตจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยมีการขนส่งรถยนต์ทางเรือเข้ามาในประเทศไทยเทียบท่าเทียบเรือของจำเลย จำเลยต้องนำรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าทั้งหมดขึ้นจากเรือโดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระค่าขนถ่ายสินค้า (handling charge) และรับฝากไว้หรือเก็บรักษารถยนต์ของโจทก์อย่างดี ซึ่งโจทก์จะต้องชำระค่าเก็บรักษาหรือรับฝากสินค้า (addition storage charge) ตามปริมาณและระยะเวลาในการเก็บรักษาหรือรับฝากสินค้าเป็นรายวันจนกว่าโจทก์จะดำเนินพิธีการทางศุลกากรแล้วเสร็จแล้วรับรถยนต์ทั้งหมดไปจากจำเลย หากเกิดความเสียหายใด ๆ จำเลยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โจทก์ได้สั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อฮุนไดรุ่นแอกเซนต์ (Accent) จำนวน 420 คัน จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยขนส่งทางเรือสินค้าระหว่างประเทศชื่อเรือทรานส์ออโต (Trans Auto) เมื่อเรือเทียบท่าเรือ ซี.อาร์.ซี. ของจำเลยแล้ว จำเลยก็นำรถยนต์ทั้ง 420 คัน ของโจทก์ขึ้นจากเรือไปเก็บรักษาไว้ ต่อมาระหว่างวันที่ 21 ถึง 24 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ดำเนินพิธีการทางศุลกากรแล้วเสร็จจึงไปขอรับรถยนต์ทั้งหมดจากจำเลย โจทก์ได้ชำระค่าขนถ่ายและค่าดูแลรักษาและรับฝากรถยนต์แก่จำเลยแล้ว โจทก์ตรวจพบว่าสีของรถยนต์บางส่วนเกิดความเสียหายเพราะจำเลยนำรถยนต์ทั้งหมดของโจทก์ไปเก็บรักษาไว้ในที่กลางแจ้งปราศจากสิ่งปกคลุมและเก็บรักษารถยนต์ไว้ใกล้กับบริษัทธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ทำให้เขม่าควันจากปล่องควันของบริษัทดังกล่าวหรือเขม่าจากสารทำลายจากที่ใกล้เคียงปกคลุมรถยนต์ของโจทก์บางส่วน เป็นเหตุให้สีรถยนต์บางส่วนได้รับความเสียหายโจทก์ต้องซ่อมแซมสีรถยนต์จำนวน 361 คัน ทั้งนี้เหตุเกิดเพราะความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยควรนำรถยนต์ไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือจัดหาวัสดุปกคลุมป้องกันไม่ให้เขม่าควันจากบริษัทธนากรผลิตน้ำมันพืช จำกัด หรือเขม่าจากที่ข้างเคียงมาทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์แจ้งความเสียหายให้จำเลยทราบทันที จำเลยรับว่าจะชดใช้ค่าเสียหายโดยจะให้บริษัทประกันภัยชำระให้โจทก์ นอกจากนั้นจำเลยยังได้มีหนังสือทวงถามบริษัทธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ด้วย เมื่อจำเลยรับว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้ โจทก์จึงนำรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายออกจากท่าเรือของจำเลยและนำรถยนต์ไปซ่อมแซมโดยเสียค่าซ่อมแซมรวมเป็นเงิน 2,906,655 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากจำเลยเป็นเงิน 6,601,525.50 บาท รวมกับค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นเงิน 9,508,108.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 9,626,959.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,508,108.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหมายเรียกบริษัทธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมไม่โต้แย้งกันรับฟังว่า โจทก์สั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อฮุนไดจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทยโดยเรือส่งสินค้าระหว่างประเทศชื่อทรานส์ออโตเมื่อเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยได้รับจ้างโจทก์ขนถ่ายรถยนต์ทั้งหมดขึ้นจากเรือและรับฝากไว้ที่ลานพักสินค้ากลางแจ้งของจำเลยใกล้กับโรงงานผลิตน้ำมันพืชของจำเลยร่วม ต่อมาโจทก์ไปขอรับรถยนต์ทั้งหมดจากจำเลย โดยได้ชำระค่าขนถ่ายกับค่าดูแลรักษาและรับฝากรถยนต์แล้วปรากฏว่าสีรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมจำนวน 361 คัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่ลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ธรรมดา หากแต่เป็นสัญญาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จต่อเนื่องกันซึ่งมีทั้งการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือโดยคิดค่าขนถ่ายและเก็บรักษาสินค้าโดยมีการคิดค่าเก็บสินค้าไม่อาจแบ่งแยกจากกันเป็นเอกเทศสัญญาใดสัญญาหนึ่งได้โดยเฉพาะถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี มิใช่ 6 เดือน คดีของโจทก์สำหรับจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความ เห็นว่า เมื่อจำเลยขนถ่ายรถยนต์ทั้งหมดขึ้นจากเรือเสร็จแล้วโจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันทีแต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลยโดยมีการคิดค่าเก็บรักษาจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วยซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝากการฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์อันมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 มิใช่ 10 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงไม่เกินอายุความ 6 เดือน นั้นปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่นายโสรัจ ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยมีไปถึงนายชัยพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ข้อความว่า “ตามที่ท่านได้มีหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากสีรถได้รับความเสียหายตามหนังสืออ้างถึงแล้วนั้น บริษัทฯ ขอเรียนให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างรอคำตอบจากบริษัทประกันภัย ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการเรียกร้องค่าเสียหายสูง และผู้ที่ทำให้เสียหายก็ไม่ได้เป็นบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ทำให้สินค้าของท่านเสียหายโดยตรง ฉะนั้น บริษัทประกันภัยจึงจะต้องทำการพิจารณาการเรียกร้องดังกล่าวโดยละเอียด และบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็ววัน ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านทราบโดยทันที บริษัทจึงเรียนมาเพื่อทราบ” เห็นได้ว่าหนังสือดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และมีเจตนาจะใช้หนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่กลับมีข้อความทำนองว่าต้องแล้วแต่บริษัทประกันภัยซึ่งกำลังพิจารณาการเรียกร้องของโจทก์อยู่ ส่วนจำเลยไม่ยอมรับผิดเพราะไม่ได้เป็นผู้ทำให้รถยนต์เสียหายดังนี้ หนังสือดังกล่าวจึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์อันจำทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2520 และที่ 2783/2535 ที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า เขม่าควันจากโรงงานน้ำมันพืชของจำเลยร่วมมีสภาพเป็นกรดทำให้สีรถยนต์ของโจทก์ซึ่งจอดอยู่ที่ลานพักสินค้ากลางแจ้งของจำเลยใกล้กับโรงงานของจำเลยร่วมได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยร่วมนำสืบว่า เขม่าควันจากปล่องควันของจำเลยร่วมไม่ได้ทำให้สีรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าความเสียหายของรถยนต์โจทก์เกิดจากเขม่าควันจากโรงงานของจำเลยร่วม ทั้งตัวอย่างเขม่าควันที่จำเลยนำไปตรวจสอบพบว่ามีสภาพเป็นกรดก็ได้ความจากนายชัยพงษ์ พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เป็นการเก็บตัวอย่างเขม่าควันไปจากตังถังรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ได้เก็บไปจากปล่องควันโรงงานของจำเลยร่วมและเขม่าควันที่ติดตัวถังรถยนต์จะติดมาจากที่ท่าต้นทางหรือที่ท่าปลายทางนั้น พยานไม่ทราบ ดังนี้ ผลการตรวจสอบเขม่าควันที่เก็บไปจากตัวถังรถยนต์ย่อมไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเขม่าควันจากโรงงานของจำเลยร่วม และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเขม่าควันจากโรงงานของจำเลยร่วมมีสภาพเป็นกรดที่ทำให้สีรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายได้จริงหรือไม่ ซึ่งนายเทวมิตร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า เขม่าควันที่เกาะรถยนต์ของโจทก์อาจจะเกิดจากโรงงานอื่น ๆ มิใช่โรงงานของจำเลยร่วม หรืออาจเกิดจากเรือบรรทุกสินค้า หรือควันอื่น ๆ บริเวณรอบท่าเรือของจำเลยก็อาจเป็นได้ ประกอบกับไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าเคยมีกรณีเขม่าควันจากโรงงานของจำเลยร่วมไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานของจำเลยร่วมมาก่อนแต่ประการใด พยานหลักฐานของจำเลยร่วมมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์ของโจทก์เกิดจากเขม่าควันจากโรงงานของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 บัญญัติให้จำเลยร่วมรับผิดโดยเด็ดขาด แม้ไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินล่อ โดยจำเลยร่วมจะหลุดพ้นความรับผิดได้ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่ากรณีของตนเป็นไปตามข้อยกเว้นของพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองข้อที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน