คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 51 ข้อ 2(จ) ใช้บังคับแก่ผู้ขับขี่ในทางเดินรถโดยทั่วไปที่ทางเดินรถนั้นไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรปรากฏอยู่ข้างหน้า เมื่อตรงสี่แยกที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุมีสัญญาณไฟจราจรเปิดอยู่ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกเกิดเหตุอันเป็นการขัดต่อพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในสำนวนและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปรับกับบทบัญญัติมาตรา 51 ข้อ 2(จ) อันเป็นการปรับบทกฎหมายที่มิชอบและเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(3)(ก) ประกอบมาตรา 247
สี่แยกที่เกิดเหตุมีสัญญาณไฟจราจรเปิดอยู่ เมื่อไม่มีสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวาในขณะเกิดเหตุจำเลยจึงไม่อาจเลี้ยวขวาได้ทันที โดยจำเลยจะต้องรอให้สัญญาณไฟจราจรทางตรงเป็นไฟแดงเสียก่อนแล้วเลี้ยวไปจึงจะปลอดภัยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22(4) การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์ที่ จ. ขับในระยะกระชั้นชิดขณะที่ จ. ขับสวนทางมาในทางตรงตามสัญญาณไฟจราจรสีเขียวและชนกับรถยนต์ที่ จ. ขับ จำเลยจึงเป็นฝ่ายประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ช-2026กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสมชัย ศุภกิจเจริญ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่นางสาวจิราพร วิเศษศักดากร ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไปตามถนนพิษณุโลกจากด้านทำเนียบรัฐบาลโฉมหน้าไปทางสนามม้านางเลิ้งด้วยความระมัดระวัง เมื่อขับรถยนต์ลงสะพานชมัยมรุเชฐปรากฏว่าจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ค-3483กรุงเทพมหานคร มาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในสภาวะเช่นว่านั้นต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์จากด้านสนามม้านางเลิ้งมาตามถนนพิษณุโลกโฉมหน้าไปทางทำเนียบรัฐบาลในทิศทางสวนกับรถยนต์ที่นางสาวจิราพรขับ เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสี่แยกจำเลยได้ขับรถยนต์เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 5 ด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้รถยนต์ของจำเลยแล่นตัดหน้ารถยนต์ที่นางสาวจิราพรขับลงสะพานชมัยมรุเชฐในระยะกระชั้นชิดและกะทันหัน จึงเกิดเฉี่ยวชนกันหลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุแล้วแจ้งข้อหาจำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพและยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500 บาท เหตุละเมิดทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย โจทก์ดำเนินการซ่อมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยดีเหมือนเดิม โดยได้เจรจาต่อรองค่าซ่อมและค่าอะไหล่กับอู่ซ่อมและผู้เอาประกันภัยแล้วเป็นค่าซ่อมทั้งสิ้น 100,000 บาท โจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว และติดต่อให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 103,125บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนางสาวจิราพร วิเศษศักดากร ซึ่งขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ช-2026กรุงเทพมหานคร ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ กล่าวคือ นางสาวจิราพรขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงข้ามสะพานชมัยมรุเชฐแล้วได้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงเข้าสู่ทางแยกที่เกิดเหตุ จำเลยเห็นเช่นนั้นจึงได้ขับรถยนต์หลบมาทางซ้าย แต่ไม่พ้นจึงเกิดชนกันขึ้นขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2536 (วันชำระค่าซ่อมแก่ผู้เอาประกันภัย)ถึงวันฟ้องแต่ไม่เกิน 3,125 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาหลายข้อ แต่ศาลชั้นต้นรับมาเพียงข้อเดียวซึ่งเป็นข้อกฎหมาย เพราะคดีมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 51 ข้อ 2(จ) เป็นบทบัญญัติใช้แก่ผู้ขับรถในทางเดินรถทั่วไปที่ทางเดินรถนั้นไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรปรากฏอยู่ข้างหน้า หากในทางเดินรถใดมีสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายบังคับไว้โดยเฉพาะผู้ขับรถต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยขับรถเลี้ยวขวาตรงบริเวณสี่แยกเกิดเหตุ เพื่อเข้าถนนพระราม 5 ขณะนั้นสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกเป็นไฟเขียว จำเลยจึงมีสิทธิเลี้ยวขวาผ่านไปได้ โดยมีหน้าที่ต้องระมัดระวังและให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม หรือผู้ที่ขับรถมาทางขวาผ่านไปก่อน และตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 22(4) ก็มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องรอรถยนต์ทางด้านที่นางสาวจิราพรขับขี่ผ่านไปก่อน เมื่อจำเลยขับรถเลี้ยวขวาบริเวณสี่แยกเกิดเหตุ เพื่อเข้าถนนพระราม 5 ตามสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงเป็นการขับรถที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21 และมาตรา 22(4) แล้ว จะนำมาตรา 51 ข้อ 2(จ)ใช้บังคับหาได้ไม่ เห็นว่า โดยที่มาตรา 51 บัญญัติอยู่ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถส่วนมาตรา 21 และ 22 บัญญัติอยู่ในลักษณะ 2 ว่าด้วยสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร จึงเป็นที่เห็นได้ว่ามาตรา 51 ข้อ 2(จ) เป็นบทที่ใช้บังคับแก่ผู้ขับขี่ในทางเดินรถโดยทั่วไปที่ทางเดินรถนั้นไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรปรากฏอยู่ข้างหน้าหากในทางเดินรถมีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรบังคับไว้โดยเฉพาะผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรนั้น มิฉะนั้นจะได้รับโทษตามมาตรา 152 เมื่อโจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าตรงสี่แยกที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุมีสัญญาณไฟจราจรเปิดอยู่ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงในทำนองว่าไม่มีสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกเกิดเหตุอันเป็นการขัดต่อพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในสำนวนและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปรับกับบทบัญญัติมาตรา 51 ข้อ 2(จ) ซึ่งเป็นบททั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับกรณีมีสัญญาณไฟจราจรอันเป็นการปรับบทกฎหมายที่มิชอบและเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ก) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในเรื่องสัญญาณไฟจราจรนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ตรงสี่แยกที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุมีสัญญาณไฟจราจรเปิดอยู่ และขณะรถยนต์ที่นางสาวจิราพรและจำเลยขับเข้าสู่สี่แยกเกิดเหตุโดยสวนทางกันนั้น ฝ่ายนางสาวจิราพรมีสัญญาณไฟจราจรสีเขียว และข้อเท็จจริงในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับสัญญาณไฟจราจรยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความต้องห้ามฎีกาโต้แย้งว่า ขณะนั้นจำเลยซึ่งขับรถยนต์มาจากด้านตรงข้ามมาถึงสี่แยกได้ขับเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์ที่นางสาวจิราพรขับในระยะกระชั้นชิด จึงเกิดเหตุชนกันขึ้น ปัญหาว่าจำเลยขับรถเลี้ยวขวาในขณะนั้นได้หรือไม่จำเลยฎีกาว่าในทางเดินรถด้านจำเลยมีสัญญาณไฟจราจรสีเขียวจึงเลี้ยวขวาได้ เห็นว่าหากทางด้านจำเลยมีสัญญาณไฟจราจรสีเขียวจำเลยก็มีสิทธิแล่นตรงไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22(3) แต่ถ้าจะเลี้ยวขวาก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 22(4) ซึ่งบัญญัติว่า “สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวาหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณไฟสีแดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวังและต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม หรือรถที่มาทางขวาก่อน”เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวขวาในขณะเกิดเหตุ จำเลยจึงไม่อาจเลี้ยวขวาได้ทันที โดยจำเลยจะต้องรอให้สัญญาณไฟจราจรทางตรงเป็นไฟแดงเสียก่อนแล้วเลี้ยวไปจึงจะปลอดภัย การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์ที่นางสาวจิราพรขับในระยะกระชั้นชิดขณะที่นางสาวจิราพรขับสวนทางมาในทางตรงตามสัญญาณไฟจราจรสีเขียวและรถยนต์จำเลยชนกับรถยนต์ที่นางสาวจิราพรขับจำเลยจึงเป็นฝ่ายประมาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share