แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายมีใจความว่า จำเลยผู้จะซื้อที่ดินและบ้านจากโจทก์ผู้จะขายในราคา 430,000 บาท โดยกำหนดเวลาชำระเงินเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระในวันที่ 31 มกราคม 2522 เป็นเงิน120,000 บาท งวดที่ 2 ชำระในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นเงิน110,000 บาท งวดที่ 3 ชำระในวันโอนเป็นเงิน 200,000 บาท และในข้อ 2 แห่ง สัญญานี้ได้ระบุว่า ในการจะซื้อจะขายนี้ผู้จะซื้อได้วาง มัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 120,000 บาท ผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว เช่นนี้ การที่โจทก์นำสืบว่าเงิน120,000 บาท ที่ระบุในสัญญานี้ความจริงไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดแต่ได้จ่ายเป็นเช็คและเช็คดังกล่าวภายหลังโจทก์ก็ได้คืนให้จำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสาร ไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสาร
จำเลยอ้างเอกสารใบรับเงินและเช็คที่โจทก์ทำให้จำเลยยึดถือไว้ระบุว่าได้รับเช็คเงินสดจำนวน 110,000 บาท และเงินสด จำนวน200,000 บาทฉบับหนึ่ง และเอกสารใบรับเช็คเงินสดจำนวน20,000 บาท อีกฉบับหนึ่ง การที่โจทก์นำสืบว่า ใบรับเงินและใบรับเช็คดังกล่าวเป็นเอกสารไม่ถูกต้อง เพราะมีการเพิ่มเติมว่ารับจำนวนเงินสด 200,000 บาท ลงไปและเช็คดังกล่าวก็ขึ้นเงินไม่ได้ การนำสืบดังกล่าวเป็น การนำสืบหักล้างเอกสาร โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
จำเลยฎีกาว่า หนังสือยินยอมให้ฟ้องคดีของสามีโจทก์นั้นโจทก์ทำขึ้นเองที่บ้านของโจทก์ด้วยเจตนาของโจทก์เอง ศาลอุทธรณ์ฟังเอกสารฉบับนี้คลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยมิได้ยกอ้างเหตุว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร จึงมิใช่เป็นฎีกาที่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีและได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๒๑๕๒ และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ ๑๑๑/๑ อยู่บนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๑ โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในราคา ๔๓๐,๐๐๐ บาท โดยจะชำระราคาในวันโอนกรรมสิทธิ์ ๒๐๐,๐๐๐ บาทวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๒ จะชำระให้ ๑๒๐,๐๐๐ บาท และในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จะชำระอีก ๑๑๐,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญานั้นเอง จำเลยได้วางเงินมัดจำเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาถนนเพชรบุรี ลงวันที่ ๓๑มกราคม ๒๕๒๒ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ไว้แก่โจทก์ เมื่อทำสัญญาแล้ว จำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ ต่อมาจำเลยได้นัดให้โจทก์ไปโอนที่ดิน โจทก์ได้ไปตามนัด จำเลยได้ขอเช็คสั่งจ่ายเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ค่ามัดจำคืนไปโดยสัญญาว่าจะนำเงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทมาชำระให้ โจทก์จึงคืนเช็คดังกล่าวให้จำเลย แต่จำเลยมิได้ชำระเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์จึงยังมิได้โอนที่ดินกัน ต่อมาประมาณวันที่ ๑๐-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา จำเลยได้จ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจำกัด สาขาถนนเพชรบุรี ๒ ฉบับ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ สั่งจ่ายเงิน๒๐,๐๐๐ บาท และลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๒ สั่งจ่ายเงิน ๑๑๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์อีกปรากฏว่าเช็คทั้งสองฉบับขึ้นเงินไม่ได้ และในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๒จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขออายัดที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายแก่จำเลย ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยไม่ยอมออกจนบัดนี้ โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำที่ดินและบ้านให้ผู้อื่นเช่าอยู่ ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่า เดือนละ๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันโจทก์บอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องรวม ๔ เดือน เป็นเงิน๑๒,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบิวารออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ๑๒,๐๐๐ บาท และต่อไปเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์จริงโดยจำเลยได้ชำระเงินสดทั้งสิ้น ๓๒๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ไม่จัดการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย กลับจะโอนที่พิพาทให้บุคคลที่สาม จำเลยจึงได้ทำการอายัดที่ดินพิพาท การกระทำของโจทก์เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๖,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหายเดือนละ๑,๕๐๐ บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาอย่างคนอนาถาต่อมาอีกโดยศาลชั้นต้นอนุญาต
วินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า หนังสือยินยอมให้ฟ้องคดีของสามีโจทก์ เอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ทำขึ้นเองที่บ้านของโจทก์ด้วยเจตนาของโจทก์เอง ศาลอุทธรณ์ฟังเอกสารฉบับนี้คลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฎีกาของจำเลยมิได้ยกอ้างเหตุว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร จึงมิใช่เป็นฎีกาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาว่า เอกสารสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.๒ ที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญามีข้อความชัดแจ้งอยู่แล้ว แต่โจทก์กลับนำสืบว่า ข้อความในเอกสารสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงเป็นการนำสืบแก้ไขเอกสาร และการที่ศาลไม่รับฟังเอกสารหมาย ล.๑ ล.๒ โดยรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ที่โจทก์นำสืบเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.๒ ที่โจทก์จำเลยทำกันไว้มีใจความว่า จำเลยผู้จะซื้อที่ดินและบ้านจากโจทก์ผู้จะขายในราคา ๔๓๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดเวลาชำระเงินเป็นงวด ๓ งวดงวดที่ ๑ ชำระในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๒ เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๒ ชำระในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เป็นเงิน ๑๑๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๓ มิได้กำหนดเวลาชำระเงินไว้ แต่ได้กำหนดว่าชำระในวันโอนเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และในข้อ ๒แห่งสัญญานี้ได้ระบุว่า ในการจะซื้อจะขายนี้ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว ดังนั้นการที่โจทก์นำสืบว่าเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ที่ระบุไว้ในสัญญานี้ความจริงไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดแต่ได้จ่ายเป็นเช็คและเช็คดังกล่าวภายหลังโจทก์ก็ได้คืนให้จำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสาร ไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเอกสารอย่างใด และที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำสืบหักล้างเอกสารหมาย ล.๑ ล.๒ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เอกสารหมาย ล.๑จำเลยอ้างว่าเป็นใบรับเงินที่โจทก์ทำให้จำเลยยึดถือไว้เป็นเช็คเงินสดจำนวน๑๑๐,๐๐๐ บาท และเป็นเงินสดจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เอกสารหมาย ล.๒เป็นใบรับเช็คเงินสดจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท การที่โจทก์นำสืบว่าใบรับเงินและใบรับเช็คดังกล่าวเป็นเอกสารไม่ถูกต้องเพราะมีการเพิ่มเติมว่ารับจำนวนเงินสด๒๐๐,๐๐๐ บาท ลงไปและเช็คดังกล่าวก็ขึ้นเงินไม่ได้ การนำสืบดังกล่าวเป็นการนำสืบหักล้างเอกสาร โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ก็มีสิทธิเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีเพราะไม่เชื่อพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน