คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ทั้งเหตุแห่งการเลิกจ้างก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นนโยบายของจำเลยที่จะลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น การเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดโดยอ้างเหตุดังกล่าว แม้จำเลยจะได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม2536 ขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และเกิดกรณีพิพาทขึ้นจนเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะทำสัญญาจ้างได้ถูกยกเลิกและใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) บังคับแทนแล้ว จึงต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ที่ใช้บังคับอยู่ขณะเลิกจ้างมาบังคับใช้แก่คดีนี้เพื่อวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยหรือไม่

Share