คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 (2) บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียวแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้ร้องได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาแล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการเดียวว่าไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านและเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควรกรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า นายรุ่งโรจน์ ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องในฐานะภริยาและผู้คัดค้านในฐานะบิดาของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน คดีถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ากรณีมีเหตุที่ควรถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันกับผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้อง นายทรงพล ทนายผู้ร้อง และนายเชษฐ์ ลูกจ้างผู้ร้องมาเบิกความว่า หลังศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ผู้ร้องได้ติดต่อผู้คัดค้าน 3 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับการออกหนังสือคู่มือประจำปืนกล่าวคือ ผู้ตายขายโควต้าการนำเข้าอาวุธปืนให้กับร้านปืนโยธิน และต่อมาทางร้านปืนโยธินได้จำหน่ายอาวุธปืนที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศตามโควต้าของผู้ตายให้กับลูกค้ารวม 10 ราย จึงทำหนังสือให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายลงนามในหนังสือมอบฉันทะ ดังรายละเอียดตามเอกสารหมาย ร.21 ถึง ร.23 โดยผู้ร้องให้นายเชษฐ์นำเอกสารไปให้ผู้คัดค้านลงนาม แต่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมลงนาม เรื่องที่ 2 คือเมื่อเดือนมีนาคม 2543 หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งคู่กรณีเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันแล้วผู้ร้องได้ทำบัญชีทรัพย์สินพร้อมมีจดหมายลงทะเบียนเชิญผู้คัดค้านมาประชุมเพื่อการจัดการมรดกในวันที่ 5 เมษายน 2543 แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมเซ็นชื่อรับจดหมาย วันที่ 30 มีนาคม 2543 ทนายผู้ร้องจึงโทรศัพท์แจ้งให้ทราบ แต่ผู้คัดค้านอ้างว่าไม่ว่างในช่วงดังกล่าว วันที่ 10 เมษายน 2543 ฝ่ายผู้ร้องจึงทำบัญชีทรัพย์มรดกแสดงต่อศาลชั้นต้นรายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.13, ค.24 เรื่องที่ 3 ผู้ร้องได้ไปยื่นขอทำใบอนุญาตค้าอาวุธปืน แต่ผู้คัดค้านไปคัดค้าน ทำให้ทางราชการไม่ออกหนังสืออนุญาตโดยอ้างว่ากรณียังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของทายาท ฝ่ายผู้คัดค้านมีตัวผู้คัดค้านนายวิชาญ ทนายผู้คัดค้าน นายสนิท นางอัมพร และนางอำไพ ซึ่งทั้งสามเป็นบุตรของผู้คัดค้านนายสถาปัตย์ มาเบิกความต่อสู้ว่าเหตุที่ผู้คัดค้านไม่ยอมลงชื่อในเอกสารออกหนังสือคู่มือประจำปีตามที่ผู้ร้องติดต่อมาเพราะตรวจสอบแล้วปรากฏว่าอาวุธปืนดังกล่าวทำการซื้อขายกันในระหว่างที่กำลังมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายส่วนเหตุที่ผู้คัดค้านไม่ไปตามนัดเพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเพราะผู้คัดค้านซื้อตั๋วไปท่องเที่ยวภาคใต้กับคณะทัวร์ไว้แล้วก่อนหน้านั้น สำหรับที่ผู้คัดค้านไปคัดค้านการขอใบอนุญาตค้าอาวุธปืนของผู้ร้องนั้น เพราะผู้คัดค้านก็ประสงค์จะได้ใบอนุญาตค้าอาวุธปืนเช่นกัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 บัญญัติว่าผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวันนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบผู้ร้องได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาตามเอกสารหมาย ค.24 แล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการที่ 5 คือ ตู้เหล็ก 1 ใบว่าไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าอาวุธปืนของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควร กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง ทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง”
พิพากษากลับให้ถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง

Share