แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การปฏิบัติตามคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่งแม้หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคงมีผลบังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 260 (2) ก็ตาม แต่ก็เป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์มิได้ขอออกหมายบังคับคดีอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว กรณีจึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมและยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งอายัดเงินบำเหน็จบำนาญที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยไว้เป็นการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้อายัดเงินบำเหน็จบำนาญของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา วันที่ 9 ธันวาคม 2540 การสื่อสารแห่งประเทศไทยส่งเงินบำเหน็จของจำเลยจำนวน 449,286.29 บาท มายังศาลชั้นต้น วันที่ 29 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5913/2541 ของศาลแพ่งธนบุรี มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้อายัดเงินบำเหน็จของจำเลยจำนวน 139,629.52 บาท เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว วันที่ 22 มิถุนายน 2543 ศาลชั้นต้นส่งเงินจำนวน 139,629.52 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนเงินที่จ่ายไปดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นการยึดซ้ำเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำสั่งอายัดเงินบำเหน็จของจำเลยชั่วคราวก่อนพิพากษายังคงมีผลต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นอายัดเงินบำเหน็จจำนวน 139,629.52 บาท ของจำเลยในคดีนี้และส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจึงเป็นการอายัดซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 นั้น เห็นว่า ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยส่งเงินบำเหน็จของจำเลยมายังศาลชั้นต้น เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินบำเหน็จของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคงมีผลบังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 260 (2) ก็ตาม แต่คำสั่งอายัดชั่วคราวก็เป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อขณะนั้นโจทก์ยังมิได้ขอออกหมายบังคับคดีอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลจึงยังถือไม่ได้ว่าคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล จึงยังถือไม่ได้ว่าคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว กรณีจึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน