คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นทำนองว่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่เหตุที่โจทก์อ้างเป็นหลักในคำฟ้องก็เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุที่โจทก์อ้างในคดีก่อนว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำขอบังคับในคดีนี้จะแตกต่างจากคดีก่อนก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน กล่าวคือ ในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ทั้งสามครั้งตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ส่วนการใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกเอาจากทายาท กรณีจำต้องอยู่ภายใต้อายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เมื่อโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งทราบการตายของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 นอกจากนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายและโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนผู้เป็นหุ้นส่วนและอำนาจกรรมการ (ที่ถูก หุ้นส่วนผู้จัดการ) ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ คืนกลับไปให้มีสภาพคงเดิมตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 2 สิงหาคม 2544 ให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนแก้ไขหุ้นส่วนและอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการคืนกลับสู่สภาพเดิมที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันดังกล่าว กับเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 10 แปลง ดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินระหว่างนายยิ่งยงผู้จัดการมรดกของนางยุดากับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนกลับสู่ฐานะเดิมตามที่จดทะเบียนไว้ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกับโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยิ่งยงจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนกลับสู่ฐานะเดิมที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2546 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5426 ระหว่างนายยิ่งยง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยุดาหรือยุ่น กับนายยิ่งยงในฐานะส่วนตัว และระหว่างนายยิ่งยงกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ให้ที่ดินกลับคืนสู่กองมรดกของนางยุดา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่ได้โต้เถียงกันว่า นายยิ่งยงหรือชิดจือ กับนางยุดาหรือยุ่น อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือนางอารีนันท์ นายอาคม จำเลยที่ 1 โจทก์และนายเอื้อ จำเลยที่ 4 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับที่ 4 นายยิ่งยงกับนางยุดาประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง ใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นบุตรคนเดียวที่ช่วยและดำเนินกิจการในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2544 และ 15 มีนาคม 2545 นายยิ่งยงกับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ นางยุดาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายยิ่งยงให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางยุดา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 นายยิ่งยงในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางยุดาได้ดำเนินการโอนที่ดิน 10 แปลง โดยโอนให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งสิ้น 9 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 131 และ 525 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3843 ถึง 3846 ที่ดินโฉนดเลขที่ 6243, 5948 และ 38647 แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้ง 9 แปลง ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5426 นายยิ่งยงจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของตนเอง แล้วโอนที่ดินต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมานายยิ่งยงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายอาคม เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 นายอาคมและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 711/2551 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยไว้ว่า การยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลสมบูรณ์ มีผลให้นายอาคมผู้ร้องที่ 2 นางยุดา และนายยิ่งยงพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่มีอำนาจร้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้ และนายอาคมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยิ่งยงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเรียกที่ดินที่นายยิ่งยงจดทะเบียนโอนไปทั้ง 10 แปลง คืนเข้าสู่กองมรดกเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 101/2552 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยวินิจฉัยไว้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่านางยุดาเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายยิ่งยงบิดาโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยุดาโอนที่ดินมรดกของนางยุดาจำนวน 10 แปลง ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางยุดาในวันเดียวกันนั้นโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 จำนวน 3 แปลง ให้จำเลยที่ 3 จำนวน 7 แปลง การที่โจทก์ฟ้อง แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนางยุดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกก็ตามแต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินมรดกจากจำเลยที่ 1 ทายาทของนางยุดา จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ต่อสู้กับโจทก์ได้ สำหรับคดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5426 ที่นายยิ่งยงโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับสู่กองมรดกของนางยุดา ซึ่งเป็นแปลงหนึ่งในสิบแปลงที่พิพาทกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 101/2552 ของศาลชั้นต้นข้างต้น ส่วนปัญหาอื่นให้ยกฟ้อง
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการปลอมและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ กับการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 711/2551 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 711/2551 ของศาลชั้นต้น โจทก์กับนายอาคม ซึ่งเป็นพี่ชายของโจทก์และพี่ชายของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ และตั้งผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ยื่นคำคัดค้าน โจทก์กับนายอาคมซึ่งเป็นผู้ร้องทั้งสองในคดีดังกล่าวจึงมีฐานะเป็นโจทก์ จำเลยที่ 1 กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ได้ยื่นคัดค้านจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้เป็นหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ในคดีนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มีผลสมบูรณ์ และฟังว่าการจดทะเบียนต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2545 และ 26 กันยายน 2549 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน โจทก์และนายอาคมมิได้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ไม่มีอำนาจร้องให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นทำนองว่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่เหตุที่โจทก์อ้างเป็นหลักในคำฟ้องก็เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุที่โจทก์อ้างในคดีก่อนว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำขอบังคับในคดีนี้จะแตกต่างจากคดีก่อนก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน กล่าวคือ ในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งยงสวัสดิ์ ทั้งสามครั้งตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 711/2551 ของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อมามีว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้ง 10 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่นายยิ่งยงโอนให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 9 แปลง และที่นายยิ่งยงโอนให้แก่จำเลยที่ 2 อีก 1 แปลง โดยขอให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ได้หรือไม่ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ สำหรับที่ดิน 9 แปลง ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 101/2552 พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากขาดอายุความมรดก ตามข้อเท็จจริงยุติข้างต้น แม้โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์ก็เป็นทายาทด้วยคนหนึ่ง การฟ้องในคดีดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของทายาททุกคนที่มีสิทธิรับมรดกของนางยุดาด้วยกัน จึงถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง การฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน 9 แปลง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม จึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นกรณีพิพาทระหว่างทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเกี่ยวกับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จึงเป็นการเรียกคืนทรัพย์สิ่งเดียวกันกับทรัพย์มรดกในคดีก่อนนั่นเอง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคดีนี้กับคดีก่อนต้องอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอีกไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5426 ที่มีการโอนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขออนุญาตสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 5426 และเอกสารอื่นซึ่งแนบท้ายคำร้องเป็นพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ที่ระบุว่า นายยิ่งยงในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง แล้วโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิมพ์ชื่อผู้รับโอนมรดกลงในสารบัญจดทะเบียนคลาดเคลื่อนโดยเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนโอนมรดกและลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทโอนมรดกแล้ว พบว่าผู้โอนมรดกคือนายยิ่งยง ผู้รับมรดกคือจำเลยที่ 1 และได้ตรวจสอบลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทให้ที่ดิน พบว่าผู้ให้คือจำเลยที่ 1 ผู้รับให้คือจำเลยที่ 2 กรณีเป็นการจดทะเบียนคลาดเคลื่อนเนื่องจากเขียนหรือพิมพ์ข้อความผิดพลาดโดยมีหลักฐานชัดแจ้ง เจ้าพนักงานจึงได้แก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยแก้ไขชื่อผู้รับโอนมรดกจากนายยิ่งยงเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ให้จากนายยิ่งยงเป็นจำเลยที่ 1 แล้ว ตามเอกสารที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้อ้างส่งเป็นพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า นายยิ่งยงในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องที่ดินพิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกเอาจากทายาท กรณีจำต้องอยู่ภายใต้อายุความมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เมื่อโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งทราบการตายของนางยุดาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันที่นางยุดาถึงแก่ความตายโดยโจทก์ได้ไปร่วมงานศพนางยุดาในวันดังกล่าวด้วย โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางยุดาจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของนางยุดาเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของนางยุดา และจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายและโจทก์ได้รู้ถึงความตายของนางยุดาเจ้ามรดก นอกจากนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางยุดาเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ในส่วนที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง ดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้ความดังที่ได้วินิจฉัยมานี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share