แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลายเนื่องจากฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมกระทบถึงความสามารถ สถานะและทรัพย์สินของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 จึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้ เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องโดยหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากสัญญากู้ยืมเงินที่ตกเป็นโมฆะจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามมาตรา 9 (2) โจทก์ไม่มีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงว่า โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ในขณะที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.12/2538 สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 และเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2540 ในคดีหมายเลขแดงที่ 21970/2540 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมกระทบถึงความสามารถ สถานะและทรัพย์สินของบุคคลนั้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 จึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้ คดีนี้เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโดยหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากสัญญากู้ยืมเงินที่ตกเป็นโมฆะ จึงเป็นนิติกรรมที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (2) โจทก์ไม่มีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ