คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง เป็นการยึดเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอให้ถอนการยึด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่มีการเจรจาตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้บังคับคดีต่อไป และวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เห็นสมควรให้วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เวลาผ่านไป 7 ปี โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดิน ทำให้ไม่อาจนำเงินไปลงทุนหากำไร นำไปฝากหรือให้กู้ยืมได้ดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,590,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ก็ไม่ได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์จะไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12806 และ 11358 จากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 12806 กึ่งหนึ่ง และที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 กึ่งหนึ่ง พร้อมอาคารเลขที่ 80 เฉพาะบนที่ดินหนึ่งในสี่ หุ้นที่ผู้ตายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ต. จำเลยที่ 2 จำนวน 37.8 หุ้น และหุ้นในบริษัท ร. จำเลยที่ 4 จำนวน 3 หุ้น แก่โจทก์ หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำทรัพย์ทั้งหมดดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 และอาคารเลขที่ 80 บนที่ดินในส่วนของโจทก์ เป็นเงิน 12,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และชำระค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวแก่โจทก์ต่อไปเป็นรายเดือน เดือนละ 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะแบ่งที่ดินและอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ ยกคำร้องสอด ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมของผู้ร้องสอดในศาลชั้นต้นเป็นพับและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 พร้อมอาคารเลขที่ 80 และที่ดินโฉนดเลขที่ 12806 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมอีก 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 238924, 163124, 170721, 24279, 24280 และ 139522
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ขอให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 238924, 163124, 170721, 24279, 24280 และ 139522 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ขอให้ถอนการยึดและงดการบังคับคดีที่ดินโฉนดเลขที่ 11358 และ 12806
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้บังคับคดีที่ดินทั้ง 8 แปลง ต่อไป และการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีพยานหลักฐานแสดงว่าไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้า เห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000,000 บาท ตามลำดับ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ลงวันที่ 8 เมษายน 2558
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 22 เมษายน 2558 ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 4,590,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 11 กันยายน 2558
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามฉบับแล้ว พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความสำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดในส่วนอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียม (ค่าทนายความ 3,000 บาท) ซึ่งต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลพร้อมฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 และ 247 (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่นำเงินค่าทนายความ 3,000 บาท มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนนี้มาย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีสำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 นั้น เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ไม่วางเงินค่าธรรมเนียม (ค่าทนายความ 3,000 บาท) ซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ดังกล่าวข้างต้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณา เพราะไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึดที่ดินและงดการบังคับคดีตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,590,000 บาท หรือไม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง… ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนี้พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ในส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์นั้น ตามคำร้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เห็นว่า กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง และวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15794/2557 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2557 โจทก์ก็มิได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์ไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2558 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้จำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และพิพากษายืน สำหรับฎีกาของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share