คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน…พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และจำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามฟ้อง เป็นจำนวน 315,722.67 บาท และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรค้างชำระตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร ที่ บช35-05110010-25480329-005-00367 จำนวน 6,354.77 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากรดังกล่าว กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ชำระค่าหุ้นที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบ เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ตามฟ้องเป็นเงินจำนวน 315,722.67 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และยอมชำระหนี้ภาษีอากรตามฟ้อง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง รวมทั้งให้ยกคำขอเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายความของโจทก์ต่อจำเลยที่ 6 ด้วย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความสำหรับโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 และพิพากษาให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ชำระค่าหุ้นที่ตนยังส่งไม่ครบถ้วน จำนวน 15,000 บาท และ 52,500 บาท ตามลำดับแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งเจ็ด ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7 ชำระค่าหุ้นแล้วตามทุนจดทะเบียนร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน โดยจำเลยที่ 2 ชำระแล้ว 200,000 บาท ค้างชำระค่าหุ้น 600,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ชำระแล้วคนละ 5,000 บาท ค้างชำระค่าหุ้นคนละ 15,000 บาท และจำเลยที่ 7 ชำระแล้ว 17,500 บาท ค้างชำระค่าหุ้น 52,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 6 นั้น ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ค้างชำระค่าหุ้น 52,500 บาท จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 315,722.67 บาท โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ชำระค่าหุ้นตามจำนวนมูลค่าหุ้นให้ครบแก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างจึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 235 มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 ว่า หนังสือรับรองการหักเงินเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 6 ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานลงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 อันดับที่ 3 และจำเลยที่ 6 นำสืบเป็นพยานนั้นรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 บัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากรให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 20 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐาน ใช้บังคับในศาลภาษีอากรได้” ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และจำเลยที่ 6 ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสองแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยที่ 6 ฟังขึ้น สำหรับปัญหาว่าการยื่นต้นฉบับพยานเอกสารดังกล่าวชอบหรือไม่นั้น ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน…พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัย หรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบภายหลัง จำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 ประการต่อไปว่า การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 นั้น ทำให้จำเลยที่ 6 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรค้าง และเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งชำระค่าหุ้นที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบแก่จำเลยที่ 1 เพื่อโจทก์นำมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าว มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 6 จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อจำเลยที่ 6 ส่งใช้ค่าหุ้นจำนวน 52,500 บาท ตามฟ้องครบถ้วนแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมนั้น หาเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 6 ระงับไปแต่อย่างใด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 235 ข้อนี้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share