คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขีดฆ่า คำว่า “ดังนี้” ในพินัยกรรมออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกไปแล้วพิมพ์ใหม่เป็นว่า “ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้” การขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรม เพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าคำดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า “พยาน” ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่า จ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรมมิใช่เป็นผู้รับมอบ การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับ ทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง ไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของนายน้อม มาโต ผู้ตาย โดยเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคำสั่งศาล จำเลยเป็นหลานของผู้ตาย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 โจทก์ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีสาขาสองพี่น้อง เพื่อขอรับโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย คือที่ดินโฉนดเลขที่ 22867 แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 มาขอรับโอนมรดกแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ตรวจดูพินัยกรรมดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด มีการขีดฆ่าข้อความสำคัญในพินัยกรรมโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับ ลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอมและมีการพิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จเหนือลายมือชื่อผู้ตาย พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าว และให้จำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 22867 ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี คืนให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ผู้ตายเป็นผู้ทำและลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานสองคน คือนายวิเชียรคำหอมรื่น และนายเจษวัฒ ทิพย์พานทอง พินัยกรรมดังกล่าวมีการแก้ไขจริงคือ ขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ออก ไม่ได้เติมข้อความใดๆ ลงไปแทน และมีการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” ออก แล้วพิมพ์คำว่า “พยาน” ลงไปแทน ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่ได้แก้ไขในประเด็นสำคัญ ไม่ทำให้สิทธิการรับมรดกตามพินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไป และไม่ทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ แต่อย่างใด จำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่านายน้อม มาโต ผู้ตาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน คือ นางสำเนียง ใจกล้า นางจำเนียร สิงโต ผู้ตาย นางสมปอง รอดเจริญ นายสมาน มาโต นายสนิท มาโต โจทก์ และนายสนอง มาโต จำเลยเป็นบุตรของนายสนิทซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนและจำเลยเป็นหลานผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 และศาลมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยได้นำพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ตามเอกสารหมาย จ.16 ไปรับโอนที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นของจำเลยโดยจำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นแรกมีว่าผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวจริงหรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์ และพันเอกธรรมนูญ เหนี่ยวสุภาพ สามีโจทก์เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ผู้ตายไม่เคยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้ใด เพราะหากผู้ตายทำพินัยกรรมไว้แล้ว ผู้ตายจะต้องบอกให้ญาติพี่น้องทราบ ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของผู้ตาย จึงเชื่อว่าเป็นพินัยกรรมปลอมและผู้ตายเคยบอกพันเอกธรรมนูญว่าจะให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ขณะที่ผู้ตายรอการผ่าตัดไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ผู้ตายบอกจำเลยว่าต้องการทำพินัยกรรมยกรถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้า ที่ดิน 2 แปลง บ้าน 1 หลัง และเงินฝากในธนาคารให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยไปพิมพ์พินัยกรรม จำเลยจึงไปหานายวิเชียร คำหอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านและนายเจษวัฒ ทิพย์พานทอง ให้เป็นพยานในการทำพินัยกรรมของผู้ตายโดยให้นายเจษวัฒเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม นายเจษวัฒพิมพ์พินัยกรรมที่โรงเรียนวัดสะพานกร่าง เมื่อเวลาประมาณ 12 นาฬิกา แล้วนำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.16 มาอ่านให้ผู้ตายฟังที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ให้ผู้ตายลงลายมือชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรม และนายวิเชียรกับนายเจษวัฒลงลายมือชื่อเป็นพยาน เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและนำพินัยกรรมไปโอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลย เห็นว่า จำเลยมีพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.16 เป็นพยานหลักฐานว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก 5 รายการ รวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย และมีนายเจษวัฒและนายวิเชียรซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่านายเจษวัฒเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม เอามาให้ผู้ตายอ่านดู เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องจึงลงลายมือชื่อไว้แล้วนายเจษวัฒและนายวิเชียรลงลายมือชื่อเป็นพยาน ส่วนโจทก์อ้างแต่เพียงว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ของผู้ตาย แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นได้ว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.16 จริง และที่โจทก์อ้างว่าการทำพินัยกรรมมีพิรุธหลายประการนั้น ล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระสำคัญจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นสุดท้ายมีว่าการขีดฆ่าข้อความในพินัยกรรม 2 แห่งโดยผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ในประเด็นนี้โจทก์อ้างว่ามีการขีดฆ่าข้อความในพินัยกรรมตรงคำว่า “ดังนี้” และคำว่า “ผู้รับมอบ” โดยผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับข้อความที่ขีดฆ่าดังกล่าว เห็นว่า การขีดฆ่า คำว่า “ดังนี้” ออกไปเพราะเป็นการพิมพ์ข้อความตกไปจึงขีดฆ่าทิ้งแล้วพิมพ์ใหม่เป็นว่า “ให้มีผลเมื่อข้าพเจ้าตายแล้วดังนี้” การขีดฆ่าคำว่า “ดังนี้” ไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของข้อความในพินัยกรรม เพราะแม้ไม่มีการขีดฆ่าดังกล่าวและไม่พิมพ์ข้อความใหม่ข้อความที่พิมพ์ก่อนหน้านั้นก็ระบุชัดเจนว่าเป็นใบมอบทรัพย์สิน (มรดก) ให้แก่จำเลยผู้รับมรดกเพียงผู้เดียว การรับมรดกย่อมจะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายอยู่แล้ว ส่วนการขีดฆ่าคำว่า “ผู้รับมอบ” แล้วพิมพ์ข้อความใหม่เป็นว่า “พยาน” ก็เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงว่านายเจษวัฒลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำพินัยกรรมมิใช่เป็นผู้รับมอบแต่อย่างใด การแก้ไขดังกล่าวมิใช่เป็นการตก เติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม ทั้งเป็นการแก้ไขก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคสอง จึงไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามที่โจทก์ฎีกา พินัยกรรมของผู้ตายมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว”
พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท.

Share