คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลที่เป็นหนี้เงินกู้ต่อกันนั้น อาจตกลงทำหนังสือกู้กันใหม่หรือนำเงินกู้รายก่อน ๆ มารวมในหนังสือกู้ครั้งหลังได้ และการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลังย่อมมิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร เพราะแม้นำสืบได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขความรับผิดตามเอกสาร
หนี้เงินกู้ซึ่งทำหนังสือกู้กันใหม่ โดยรวมจำนวนเงินกู้ครั้งหลังเข้าไว้ด้วยกันนั้น มิใช่เป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ เพราะไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่อย่างไร
ผู้กู้จะขอนำสืบว่า ผู้ให้กู้เอาจำนวนดอกเบี้ยเกินอัตรามารวมเป็นต้นเงินในสัญญากู้ได้ เพราะเป็นการนำสืบว่าหนี้อันเกิดจากดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นไม่สมบูรณ์อย่างหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป ๖ ครั้ง ถึงกำหนดชำระโจทก์ทวงถามหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย ผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย
จำเลยให้การภาคเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกู้เงินและค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จริงดังฟ้อง พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๔,๕๘๐ บาทกับดอกเบี้ย ร้อยละ ๑๕ ต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยและพยานโจทก์เกี่ยวกับสัญญากู้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยต่อไป แล้วรวมพิพากาาใหม่ทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บุคคลที่เป็นหนี้เงินกู้ต่อกันนั้น อาจตกลงทำหนังสือกู้กันใหม่หรือนำเงินกู้รายก่อน ๆ มารวมในหนังสือกู้ครั้งหลังได้ ไม่เป็นการผิดขัดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียกร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญากู้ครั้งหลังย่อมมีผลบังคับต่อกันได้ตามกฎหมาย การนำสืบของจำเลยในกรณีนี้ จึงมิใช่เป็นการสืบแสดงว่า เอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ แต่เป็นเรื่องนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลัง และการนำสืบมาถึงที่มาแห่งหนี้ มิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร เพราะแม้นำสืบได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขความรับผิดตามเอกสาร
หนี้เงินกู้ซึ่งทำหนังสือกู้กันใหม่ โดยรวมจำนวนเงินกู้ครั้งหลังเข้าไว้ด้วยกันนั้น มิใช่เป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์แล้วจำเลยทำเอกสารสัญญากู้ซ้ำกันให้โจทก์ไว้ หาทำให้ำจเลยบังเกิดความรับผิดขึ้นใหม่ไม่ จำเลยคงมีความรับผิดเพียงเท่าที่จำเลยได้กู้ไปจากโจทก์ ฉะนั้น จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าเป็นหนี้รายเดียวกัน เพื่อไม่ต้องรับผิดตามสัญญาทุกฉบับ ไม้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔ เพราะไม่ใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร หากแต่เป็นการสืบว่าสัญญาฉบับก่อนใช้ไม่ได้ เพราะซ้ำกับสัญญาฉบับหลัง และไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรค ๒ เพราะมิใช่เป็นการนำสืบการใช้เงิน
สำหรับข้อที่จำเลยต่อสู้จะขอนำสืบว่า การกู้ครั้งที่ ๖ ได้นำดอกเบี้ยเกินอัตราในกฎหมายมารวมด้วนั้ ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าหากสมจริงดังจำเลยอ้าง ก็แสดงว่า สัญญาเกี่ยวกับเงินดังกล่าวนี้เป็นโมฆะ จึงเป็นการนำสืบแสดงว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ วรรคท้ายอนุญาตให้นำพยานบุคคลมาสืบได้
พิพากษายืน

Share