คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9181/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี และยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีองค์ประกอบของความผิดและการกระทำที่มีเจตนาประสงค์ต่อผลแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ อ. ได้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และยินยอมมอบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งทางด่านศุลกากรแม่สอดได้อนุมัติให้ทำความตกลงระงับคดีแล้ว ก็เป็นการระงับเฉพาะในส่วนของ อ. ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยระงับไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5, 6, 7, 8, 9 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง และมิได้มีการสั่งริบของกลาง จึงไม่มีเงินค่าปรับที่จำเลยหรือผู้กระทำความผิดได้ชำระต่อศาล และไม่มีเงินที่ได้จากการขายของกลาง ไม่อาจจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้เสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จำคุก 3 ปี ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้มีการเสียค่าภาษี หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร จำคุก 1 ปี และปรับ 563,712 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 563,712 บาท ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละยี่สิบของค่าปรับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรล่า หมายเลขเครื่อง 5 AP 197084 หมายเลขตัวถังรถ AE 100 – 0019035 หมายเลขทะเบียน ก – 3837 ตาก ซึ่งเป็นรถที่มิได้ผลิต จำหน่าย หรือได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่มีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดรถดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนนายอภิชาติ ให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยยินยอมมอบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน และด่านศุลกากรแม่สอดได้อนุมัติให้รับทำความตกลงระงับคดีแล้ว รถยนต์ของกลางมีราคาประเมิน 45,000 บาท ค่าภาษีอากร 95,928 บาท ราคารวมภาษีอากร 140,928 บาท ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ช่วยราชการงานป้องกันปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจนครบาล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายสำราญ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณต้นปี 2547 นายฝั้นมาบอกแก่พยานว่าจำเลยต้องการขายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าในราคาถูก พยานต้องการซื้อรถยนต์ให้แก่นายพิทักร์ บุตรชายไว้ใช้งาน จึงได้ให้นายฝั้นนัดหมายจำเลยมาพบกันที่อู่ซ่อมรถบุญหาการช่างของนายบุญหา หลังจากนัดหมายกันแล้วพยานได้ไปพบจำเลยที่อู่บุญหาการช่าง จำเลยพาพยานไปดูรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ก – 3837 ตาก ซึ่งจอดอยู่ที่อู่ดังกล่าว พยานตกลงซื้อรถยนต์ในราคา 50,000 บาท โดยจำเลยให้พยานมารับรถในอีก 3 วันข้างหน้าเนื่องจากรถยนต์คันดังกล่าวอยู่ระหว่างซ่อมแซมหม้อน้ำ หลังจากนั้นอีก 3 วัน นายพิทักร์ได้ไปรับรถยนต์โดยไม่ได้ชำระราคา ต่อมาจำเลยให้นายพิทักร์มอบไม้แดงหรือไม้มะค่าประมาณ 3 ยก ให้จำเลยเพื่อตีใช้หนี้ราคารถยนต์โดยคิดประมาณ 30,000 บาท ส่วนอีก 20,000 บาท จะชำระให้ภายหลัง และโจทก์มีนายพิทักร์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณต้นปี 2547 นายฝั้นได้บอกแก่พยานว่าจำเลยต้องการขายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าในราคาถูก พยานจึงให้นายฝั้นพาไปดูรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุ พยานพอใจจึงบอกให้นายสำราญทราบ หลังจากนั้นพยานพูดขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลย โดยจำเลยขอให้พยานนำไม้มะค่าที่เหลือจากการสร้างบ้าน 3 ยก ราคาประมาณ 50,000 บาท ตีใช้หนี้ราคารถ ต่อมาพยานได้ให้นายฝั้นนัดหมายจำเลยมาพูดคุยกันที่อู่ที่เกิดเหตุ เมื่อพบจำเลย พยานได้พูดตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต่อหน้านายบุญหา แต่พยานยังไม่ได้นำรถยนต์ไปใช้งาน เนื่องจากรถยนต์อยู่ระหว่างการซ่อมแซมหม้อน้ำ หลังจากที่พยานนำรถไปใช้ได้ไม่นาน จำเลยได้นำรถมาลากไม้ที่บ้านของพยาน 3 ยกไปตามที่ตกลงกัน และโจทก์มีนายฝั้น เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน ก – 3837 ตาก พยานเคยเห็นจำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวและเห็นว่ารถมีสภาพดีจึงสอบถามจำเลยว่าจะขายหรือไม่ ต่อมาพยานพานายพิทักร์ไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อติดต่อขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ต่อมาอีก 3 วัน จึงพากันไปที่อู่ที่เกิดเหตุเพื่อดูสภาพรถ หลังจากนั้นพยานเห็นนายพิทักร์ขับรถยนต์คันดังกล่าว และพยานทราบจากนายพิทักร์ว่าได้ใช้ไม้มะค่า 3 ยก ตีใช้หนี้ราคารถให้จำเลย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญ โดยพยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน โดยเฉพาะพยานโจทก์ทั้งสามทราบดีว่าจำเลยรับราชการตำรวจ จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะกล้าเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเบิกความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจตรีสุรเดช เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2547 พยานกับพวกรับแจ้งจากสายลับว่าอู่ที่เกิดเหตุมีการนำรถยนต์ที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายดัดแปลงซ่อมแซมเพื่อขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา พยานจึงเข้าตรวจค้นอู่ที่เกิดเหตุและยึดรถยนต์ของกลางไปตรวจสอบ โดยนายบุญหาเจ้าของอู่ที่เกิดเหตุแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้นำรถยนต์มาซ่อมแซม พยานได้บันทึกการตรวจยึดไว้ ซึ่งบันทึกการตรวจยึดดังกล่าวนายบุญหาลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าของอู่และผู้ยินยอมให้ตรวจยึด ซึ่งบันทึกการตรวจยึดดังกล่าวทำขึ้นเกือบจะในทันทีที่มีการตรวจยึดรถยนต์ของกลาง โดยไม่มีเวลาปรุงแต่งคำให้การ เชื่อว่านายบุญหาให้การต่อร้อยตำรวจตรีสุรเดชตามความเป็นจริง ทั้งร้อยตำรวจตรีสุรเดชเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะบันทึกข้อเท็จจริงในการตรวจยึดรถยนต์ของกลางให้ผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อปรักปรำจำเลย แม้ในชั้นพิจารณานายบุญหาจะเบิกความปฏิเสธว่าพยานไม่ได้อ่านบันทึกการตรวจยึด และเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านข้อความให้พยานฟังก่อนที่จะให้พยานลงลายมือชื่อ และพยานไม่เคยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลย แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ประกอบกับได้ความว่านายบุญหาเป็นญาติกับจำเลย การเบิกความในชั้นพิจารณาเป็นเวลาห่างจากเวลาที่เกิดเหตุนานพอสมควร เชื่อว่าพยานดังกล่าวมีโอกาสคิดปรุงแต่งคำเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ส่วนฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า นายบุญหาเบิกความว่าพยานไม่เคยเห็นนายพิทักร์เจรจาซื้อขายรถยนต์กับจำเลย พยานไม่เคยให้การในชั้นสอบสวนว่าเห็นนายพิทักร์เจรจาซื้อขายรถยนต์กับจำเลย คำเบิกความของนายสำราญ นายพิทักร์ และนายฝั้นมีข้อพิรุธและขัดแย้งกัน ทั้งราคาซื้อขาย การเจรจาซื้อรถยนต์พิพาท และการใช้ไม้มะค่าหรือไม้แดงตีใช้หนี้ราคารถ ซึ่งถือเป็นข้อสาระสำคัญ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และฎีกาที่ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยไว้โดยชอบทุกประการแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาดังกล่าวของจำเลยซ้ำอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี และยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิดและการกระทำที่ประสงค์ต่อผลแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แม้นายอภิชาติได้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และยินยอมมอบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งทางด่านศุลกากรแม่สอดได้อนุมัติให้ทำความตกลงระงับคดีแล้ว ก็เป็นการระงับเฉพาะในส่วนของนายอภิชาติไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยระงับไปด้วย นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 บัญญัติว่า “สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลางหรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล” ซึ่งคดีนี้มิได้สั่งริบของกลาง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษปรับจำเลย ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับจากเงินค่าปรับได้ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยมิได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับ เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการบังคับค่าปรับไว้จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับอันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดวิธีการบังคับค่าปรับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ทั้งนี้ในกรณีต้องกักขังแทนค่าปรับ มิให้กักขังเกินกำหนด 1 ปี
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share