คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9163/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการตัดคำบางคำจากคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันเป็นปกติธรรมดาแบบมีความหมายในสังคมคือคำว่า “AIR CONDITIONER” หรือคำว่า “AIR CONDITIONING” มาประกอบกันเป็นคำเดียว ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ดัดแปลงตัวอักษรโรมันตัวโอในคำดังกล่าวให้มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ประชาชนใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมอยู่แล้วก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย จึงไม่ทำให้คำว่า “” เป็นคำประดิษฐ์แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า “” มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 960/2556 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และพิพากษาให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 684803
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยมีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 11 รายการสินค้า เครื่องปรับอากาศ เป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 684803 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ อ้างเหตุว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เนื่องจากคำว่า “AIRCON” เป็นคำที่มีความหมายว่าเครื่องปรับอากาศหรือระบบปรับอากาศและเป็นคำเดียวกับคำว่า “AIR CONDITIONER” จึงเป็นชื่อของสินค้าเครื่องปรับอากาศ และเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในทางการค้าขาย ไม่สมควรให้สิทธิผูกขาดการใช้คำดังกล่าวแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ และคำดังกล่าวเป็นคำที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ด้วย เพราะการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวให้แก่โจทก์จะเป็นการกีดกันในทางการค้าไม่ให้บุคคลอื่นที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดียวกันกับโจทก์ใช้คำดังกล่าวในทางการค้าได้ โจทก์ยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านดังกล่าว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยที่ 110/2552 วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้า “” เป็นคำประดิษฐ์ ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 684803 ต่อไป ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วมีคำวินิจฉัยใจความโดยสรุปว่า คำว่า “” เป็นคำที่ปรากฏความหมายตามพจนานุกรมซึ่งให้ความหมายคำดังกล่าวว่าเป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของคำว่า “air conditioning” หรือเป็นคำที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “air conditioning” คำว่า “AIRCON” จึงมิใช่คำประดิษฐ์ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แต่คำว่า “AIRCON” นี้เป็นคำที่มีความหมายว่า การปรับอากาศ หรือระบบปรับอากาศ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ขอจดทะเบียน จึงเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายกับสินค้าเครื่องปรับอากาศ อันไม่มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2546 เรื่อง กำหนดสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่งนั้นยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะนั้นเปลี่ยนแปลงไป ส่วนปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์และผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นดังกล่าวภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวที่จำต้องพิจารณาต่อไปอีก จึงมีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 11 รายการสินค้า เครื่องปรับอากาศ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 684803 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันควรได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ เห็นว่า โดยหลักเกณฑ์ทั่วไป การนำคำภาษาต่างประเทศที่มีความหมายปกติธรรมดาหลายคำมาประกอบกันหรือการตัดคัดเลือกมาเฉพาะคำบางคำมาประกอบกัน รวมทั้งการใช้คำดังกล่าวให้ผิดรูปไวยากรณ์เพื่อให้ไม่สามารถหาคำแปลของคำที่ประกอบกันขึ้นมาในพจนานุกรมทั่วไปได้ แต่ยังคงรูปลักษณะและเสียงเรียกขานเดิม โดยสามารถรู้ได้โดยพิจารณาจากรูปลักษณะและเสียงเรียกขานนั้นก็ทำให้ทราบถึงที่มาของคำดังกล่าวได้นั้น ไม่ถือว่าว่าคำที่นำมาประกอบกันขึ้นใหม่ตามวิธีการข้างต้นนี้เป็นคำประดิษฐ์ เพราะเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้วยังคงสื่อให้เห็นถึงความหมายเดิมของคำดังกล่าวนั้นได้ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการตัดคำบางคำจากคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันเป็นปกติธรรมดาแบบมีความหมายในสังคมคือคำว่า “AIR CONDITIONER” หรือคำว่า “AIR CONDITIONING” มาประกอบกันเป็นคำเดียว ซึ่งคำว่า “AIRCON” นี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดนำสืบพจนานุกรมศัพท์ภาษาอังกฤษ “Oxford Advanced Learner’s Dictionary” ด้วยว่า คำว่า “” คือคำเดียวกับคำว่า “AIR CONDITIONING” โดยมีความหมายว่าระบบปรับอากาศ และโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์คงโต้แย้งเพียงว่า หลักฐานพจนานุกรมที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดนำสืบดังกล่าวไม่อาจสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสิบเอ็ดที่ว่าคำว่า “” ไม่ใช่คำประดิษฐ์เพราะพจนานุกรมดังกล่าวพิมพ์เผยแพร่หลังจากที่โจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลบริษัทโจทก์แล้วเท่านั้น แต่ก็ปรากฏจากพจนานุกรมศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ระบุว่า “First published 1948” ซึ่งหมายความว่า มีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2491 และเมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองบริษัทโจทก์ ระบุว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อบริษัทว่า “แอร์คอน – เอ็มเอฟจี” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2535 แสดงว่า พจนานุกรมศัพท์ภาษาอังกฤษ มีการพิมพ์เผยแพร่ก่อนที่โจทก์จะใช้ชื่อนิติบุคคลที่มีคำว่า “แอร์คอน” ประกอบอยู่ด้วย จึงรับฟังข้อเท็จจริงตามพจนานุกรมศัพท์ภาษาอังกฤษนี้ได้ จึงเห็นได้ว่าแม้กระทั่งคำว่า “” ก็เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปที่สาธารณชนย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ดัดแปลงตัวอักษรโรมันตัวโอในคำดังกล่าวให้มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ประชาชนใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมอยู่แล้วก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย จึงไม่ทำให้คำว่า “” เป็นคำประดิษฐ์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวขึ้นจากชื่อนิติบุคคลของโจทก์จึงแตกต่างจากคำว่า “AIR CON” ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมหรือที่สาธารณชนเคยรับรู้รับทราบมานั้น ก็ไม่ปรากฏว่าคำว่า “” เพียงคำเดียวนี้จะสร้างความแตกต่างจากคำว่า “AIR CON” คำว่า “AIR CONDITIONING” หรือคำว่า “AIR CONDITIONER” ที่ประชาชนทั่วไปอาจใช้เรียกขานเพื่อสื่อความหมาย ถึงระบบปรับอากาศหรือเครื่องปรับอากาศตามที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมได้อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า “” เป็นคำประดิษฐ์ตามที่โจทก์อุทธรณ์กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า “” มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับปัญหาว่าคำว่า “” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้สำหรับสินค้าเครื่องปรับอากาศนี้เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องปรับอากาศอันไม่ควรให้โจทก์ถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ว่าคำธรรมดาที่มีความหมายทั่วไปอาจเป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนได้หากว่ามีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แต่คำดังกล่าวต้องมิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างบางจำพวก สำหรับกรณีนี้ โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “” เพียงคำเดียว ไม่มีเครื่องหมายอื่นประกอบด้วย และเมื่อได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า คำว่า “” ไม่ใช่คำประดิษฐ์ โดยคำดังกล่าวมีความหมายเท่ากับคำว่า “AIR CONDITIONING” หรือคำว่า “AIR CONDITIONER” ที่ประชาชนทั่วไปอาจใช้เรียกขานเพื่อสื่อความหมายถึงระบบปรับอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นคำว่า “” จึงถือเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องปรับอากาศ ตามประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2546 เรื่อง กำหนดสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ที่กำหนดว่า ภาพของสินค้าหรือบริการ หรือสิ่งซึ่งใช้เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ และภาพที่แสดงถึงความหมาย ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการของสินค้าทุกอย่างในแต่ละจำพวกเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นด้วย กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้หนึ่งผู้ใดสมควรจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวเพื่อถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียว ไม่ว่าโจทก์จะได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาโดยสุจริตหรือไม่และโจทก์จะได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นมานานเท่าใดก็ไม่อาจรับจดทะเบียนให้โจทก์เพื่อผูกขาดสิทธิในการใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวได้แต่อย่างใด และเมื่อเป็นกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนทั้งเครื่องหมายไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 6 เนื่องจากไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะดังกล่าวข้างต้น ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เสีย ดังนั้นที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว และเมื่อวินิจฉัยว่าคำว่า “” ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะมิใช่คำประดิษฐ์ตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งยังเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ขอจดทะเบียนด้วยแล้ว กรณีจึงไม่อาจวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดที่ว่า โจทก์ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” จนแพร่หลายได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะเป็นกรณีที่ไม่อาจนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 684803 ของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 960/2556 ชอบแล้ว และให้พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share