คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบในการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกภาพนั้น โจทก์ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆอันเกิดแก่การที่โจทก์ต้องขาดจากสมาชิกภาพของจำเลยที่ 1รวมไปกับฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1ในคดีก่อน แต่กลับมาเรียกร้องในคดีนี้โดยอาศัยเหตุแห่งการถอดถอนโจทก์ออกจากสมาชิกภาพคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงิน650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการของสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด จำเลยที่ 1 โจทก์เป็นสมาชิกและเป็นกรรมการดำเนินการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการดำเนินการได้มีมติถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2531 โจทก์กับพวกซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 อีกคนหนึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนมติคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2(10)/2531 (ที่ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1) ปรากฎตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26056/2531 ของศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2537 ระหว่างนายสุรพล นพคุณวัฒนากุล ที่ 1 นายสำรวย กฤษณคุปต์ ที่ 2 โจทก์ กับสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัดจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ในคดีดังกล่าวยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ลงมติในคดีดังกล่าวเรียกค่าเสียหายฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นคดีนี้ กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งแปดได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26056/2531ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้ว่าพฤติการณ์ของโจทก์(โจทก์ที่ 1 ในคดีดังกล่าว) ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ซื่อตรงต่อจำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีดังกล่าว) หรือทำให้จำเลยที่ 1เสียหายอันเป็นเหตุให้ที่ประชุม (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8) ลงมติถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์ที่ 1 มติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบ ด้วยเหตุนี้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน สาเหตุก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 กรรมการได้มีมติถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 ดังนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบในการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกภาพนั้นโจทก์ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ อันเกิดแก่การที่โจทก์ต้องขาดจากสมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 รวมไปกับการฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แต่กลับมาเรียกร้องในคดีนี้โดยอาศัยเหตุแห่งการถอดถอนโจทก์ออกจากสมาชิกภาพคราวเดียวกันซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26056/2531 ของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหานี้แม้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เมื่อเห็นสมควรเพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 247

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้โจทก์บรรยายในคำฟ้องข้อ 2ได้ความว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นได้ประชุมคณะกรรมการดำเนินการครั้งที่ 2(10)/2531 และมีมติถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์อ้างว่าโจทก์กระทำการไม่ซื่อตรงหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 พ.ศ. 2518 ข้อ 13(9) โดยมติดังกล่าวยังได้ถอดถอนสมาชิกภาพของนายสำรวย กฤษณคุปต์สมาชิกของจำเลยที่ 1 หมายเลข 555 อีกคนหนึ่งด้วย เนื่องจากโจทก์และนายสำรวยได้คัดค้านการเลิกจ้างนางสาวเกษมศานต์ ชมภูแดงอดีตเจ้าหน้าที่การเงินของจำเลยที่ 1 และโจทก์กับนายสำรวยยังได้ไปเบิกความเป็นพยานศาลให้แก่นางสาวเกษมศานต์ที่ศาลแรงงานกลางในคดีที่นางสาวเกษมศานต์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จนศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่นางสาวเกษมศานต์ 33,000 บาท โจทก์จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวและหลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนมติกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้จดแจ้งโจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกตามเดิม และบรรยายในคำฟ้องข้อ 3 ว่าการที่จำเลยที่ 1 ถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์ตามฟ้องข้อ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8ประสงค์ให้โจทก์พ้นจากการเป็นกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1จึงเป็นการแกล้งหรือจงใจใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไร นอกจากนี้ตามบันทึกรายงานการประชุมครั้งที่ 2(10)/2531 ปรากฏว่าในวันประชุมดังกล่าวมีกรรมการมาร่วมประชุมทั้งหมด 10 คน คือโจทก์ นายสำรวย จำเลยที่ 2ถึงที่ 8 และนายคำ สายสุด และมีระเบียบวาระการประชุมรวม 9 วาระการพิจารณาถอดถอนจากสมาชิกภาพอยู่ในระเบียบวาระที่ 5 โดยคณะอนุกรรมการสอบสวนความผิดของสมาชิกที่ประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับนางสาวจิดาพร วิทยปิยานนท์ ได้เสนอรายงานผลการสอบสวนสมาชิกจำนวน 3 ราย คือ โจทก์ นายสำรวย กฤษณคุปต์และนายเอก ครุฑปรีชาวรรณ โดยคณะอนุกรรมการเสนอความเห็นให้ถอดถอนออกจากสมาชิกภาพทั้งสามราย คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า สมาชิกทั้งสามรายกระทำผิดข้อบังคับของจำเลยที่ 1พ.ศ. 2518 ข้อ 13(9) จึงลงมติให้ถอดถอนโจทก์ นายสำรวยและนายเอกออกจากสมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 โดยกรรมการที่เห็นชอบให้ถอดถอนสมาชิกภาพของโจทก์มีจำนวน 7 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน 1 คน คือนายคำ สายสุดเป็นการลงมติด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของกรรมการที่มาประชุม ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และคณะกรรมการอื่นของจำเลยที่ 1 ได้ประชุมในระเบียบวาระอื่นต่อไปคือ รับทราบรายงานกิจการและรายงานกิจการรถเช่าประจำเดือนมกราคม 2531 พิจารณาคำร้องทุกข์ของสมาชิกรวม 7 เรื่อง และเรื่องอื่น ๆ อีก 6 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มาประชุมและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากสมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการกระทำหน้าที่ในการประชุมตามปกติ ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดแม้ภายหลังศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ซื่อตรงต่อจำเลยที่ 1 หรือทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายก็ตาม ก็เป็นเรื่องของดุลยพินิจและความเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคสอง, 77 และ 812 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share