คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยได้ที่ดินของโจทก์มาเพื่อสร้างทางพิเศษ อาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพียงฉบับเดียว โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 ตกลงซื้อขายที่ดินส่วนที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ซึ่งไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ดินที่จะต้องให้ได้มาเพื่อสร้างทางพิเศษตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาส่วนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเป็นการประมาณการของจำเลย แต่เมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่แน่นอนรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นอีก 198 ตารางวา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 198 ตารางวา ให้แก่โจทก์ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง และที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วน 198 ตารางวา นี้รวมอยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ครบ 120 วัน จากวันที่ทำสัญญาซื้อขายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3169, 3170 และ 54210 ตำบลจรเข้บัว อำเภอ (บางกะปิ)ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เนื้อที่รวม 27 ไร่ 32 ตารางวา ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่มเขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามโฉนดเลขที่ 3170 เนื้อที่ 21 ไร่ 95 ตารางวา ถูกเวนคืน 8 ไร่ 25 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3169 เนื้อที่ 4 ไร่ 61 ตารางวา ถูกเวนคืน 1 ไร่3 งาน 90 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 54210 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวาถูกเวนคืน 54 ตารางวา ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองตารางวาละ 21,000 บาท โจทก์ทั้งสองเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม จึงอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกตารางวาละ 9,000 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ปรากฏว่าภายหลังจากโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทจึงทราบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น โดยโฉนดเลขที่ 3170 เพิ่มจำนวน1 งาน 18 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3169 เพิ่มจำนวน 68 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 54210 เพิ่มจำนวน 12 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น198 ตารางวา จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองไว้แล้วตารางวาละ 9,000 บาท เป็นเงิน1,782,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงิน (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์) คือ วันที่ 15ธันวาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ย เมื่อคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน877,905 บาท จำเลยยอมจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ต้องจ่ายเพิ่มดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แต่ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 877,905 บาท

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทได้ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ โจทก์ทั้งสองไม่พอใจในเงินค่าทดแทนที่ดินจึงฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นตารางวาละ 9,000 บาท รวมเป็นตารางวาละ 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม2536 ต่อมาเมื่อรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วที่ดินพิพาททั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 198 ตารางวา โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดแล้วแต่โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 ในส่วนของเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นเพราะในปี 2536 ยังไม่มีการรังวัดที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และยังไม่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม จำเลยยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นคือวันที่ 1 เมษายน 2542ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสอง คู่ความแถลงงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายโดยขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดประเด็นแห่งคดีเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องใช้ดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในส่วนของที่ดินเนื้อที่ 198 ตารางวาหรือไม่ เพียงใด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 1,062,000 บาทนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กุมภาพันธ์2542) ดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน 720,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มีนาคม2537 จนถึงวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 877,905 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอมา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในส่วนของที่ดินเนื้อที่ 198 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใดจำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายฯ ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้กำหนดไว้ในข้อ 1.1 วรรคสอง ว่า เมื่อปรากฏจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันมากกว่าที่ระบุในสัญญา จำเลยจะจ่ายค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้ตามอัตราที่กำหนดในวรรคก่อน และกำหนดไว้ในข้อ 1.1 วรรคสามว่า การจ่ายเงินค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น…ตามวรรคก่อนให้กระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วเสร็จ ตามหนังสือแจ้งการรังวัดและสำเนาโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยอ้างส่งท้ายอุทธรณ์ระบุแจ้งชัดว่า เนื้อที่ดินส่วนที่เพิ่มขึ้น 198 ตารางวา นี้ มีการรังวัดตามหลักเกณฑ์ของเจ้าพนักงานที่ดินแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540ครบกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2540 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 และวันที่ 2 มีนาคม 2537 อันเป็นวันครบกำหนดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ที่ให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนภายใน 120 วัน นับแต่วันทำสัญญาไม่ถูกต้อง และโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยไม่ได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เพิ่มขึ้นจำนวน 198 ตารางวา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารออมสิน จึงต้องใช้อัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และเรื่องอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยสามารถยกขึ้นเป็นประเด็นในทุกชั้นศาลนั้น เห็นว่า การดำเนินการของฝ่ายจำเลยให้ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองเพื่อสร้างทางพิเศษ สายรามอินทรา-อาจณรงค์ นั้น อาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิเขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 เพียงฉบับเดียว แนวเขตที่ดินที่จะสร้างทางพิเศษสายนี้ในบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือขยายเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและถูกดำเนินการเพื่อเวนคืนเพียงครั้งเดียว โดยฝ่ายจำเลยใช้อำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 ตกลงซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ กับโจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 และ 12 ซึ่งไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ดินที่จะต้องให้ได้มาเพื่อสร้างทางพิเศษฯ ตามสัญญาซื้อขายฯ เอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 และ 12 จึงเป็นที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ ส่วนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายฯ เอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 และ 12 เป็นการประมาณการของฝ่ายจำเลยแต่เมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่แน่นอนรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยประมาณการไว้อีก 198 ตารางวาเนื้อที่ดินในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มีที่มาจากที่ดินผืนเดียวกันกับที่ระบุเนื้อที่ไว้ในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมคำนวณเนื้อที่ผิดพลาดอยู่นั่นเองจำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนค่าที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ทั้งสามในส่วนที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดคือรวมทั้งเนื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นอีก 198 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายฯ เอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 และ 12 ด้วยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง และที่โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วน 198 ตารางวา นี้รวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อศาลวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นของเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 198 ตารางวา นี้ด้วย นับแต่วันที่ครบ 120 วัน จากวันที่ 1 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 อันเป็นวันทำสัญญาซื้อขายฯเอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 และ 12 ตามลำดับ คือวันที่ 1 และวันที่ 3มีนาคม 2537 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคสามฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยนั้นผิดพลาดไป 1 วัน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คำนวณดอกเบี้ยของต้นเงิน 1,062,000 บาทนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2537 และของต้นเงิน 720,000 บาท นับแต่วันที่ 3มีนาคม 2537 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share