แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่น แต่มิได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะและยังคงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมารดา เมื่อจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282, 317, 91 ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3281/2538 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม, 317 วรรคสาม (ที่ถูกประกอบด้วยมาตรา 83) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 282 วรรคสาม จำคุกคนละ 6 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ (ที่ถูกพรากเด็ก) ตามมาตรา 317 วรรคสาม จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด8 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3651/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 เพียงว่า การที่ผู้เสียหายได้ออกจากบ้านบิดามารดาโดยไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่นมาก่อน เมื่อเลิกกับสามีจึงมาอยู่กับจำเลยที่ 3 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายไปค้าประเวณีจะเป็นการพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนี้ไว้ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ใหม่ได้ ข้อนี้ได้ความจากผู้เสียหายและนาง น. เบิกความสอดคล้องกันรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายอาศัยอยู่กับนาง น. มารดาจนปี 2537 ผู้เสียหายทะเลาะกับนาง น.จึงออกจากบ้านไปทำงานที่ร้านอาหารข้างบ้าน จากนั้นผู้เสียหายมีสามีโดยอยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้เสียหายเลิกกับสามีจึงไปอยู่กับจำเลยที่ 3 ก่อนที่จะถูกจำเลยที่ 3 ชวนไปค้าประเวณี เห็นว่า การที่ผู้เสียหายไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่น แต่ก็มิได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20ผู้เสียหายจึงยังคงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของนาง น. หาได้ขาดจากอำนาจปกครองไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากนาง น. มารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 3 อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน