คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

นับจากวันที่โจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทจากกรมที่ดินโจทก์ร่วมคงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเท่านั้นเมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาทโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใดปรากฎว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทั้งจำเลยที่1ได้แสดงความเป็นเจ้าของโดยทำเป็นหนังสือคัดค้านการนำที่ดินพิพาทไปออกน.ส.3และขายให้แก่ผู้อื่นดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปถากถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายที สกุลมา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2) ประกอบมาตรา 83(ที่ถูกมาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362, 83) ให้รอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณทุ่งเขาพระ ต่อมาเมื่อปี 2532 รัฐบาลได้นำที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวไปจัดสรรแบ่งให้ราษฎรเข้าทำกินโจทก์ร่วมได้รับการจัดสรรที่ดิน 1 แปลง ซึ่งภายหลังได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4052 เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวาวันที่ 11 ตุลาคม 2534 กรมที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2535เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าหลังจากโจทก์ร่วมจับสลากได้ที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมกับพวกช่วยกันถากถางที่ดินนานเกือบเดือนจึงได้ที่ดินโล่งเตียนประมาณ 20 ไร่แม้โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าไปทำไร่ทำนาเนื่องจากกลัวอันตรายถึงแก่ชีวิตจากการขู่ของจำเลยทั้งสอง ก็ถือว่าโจทก์ร่วมได้เข้าทำประโยชน์ในทีดินพิพาทตั้งแต่ปี 2532 แล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันถากถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทภายหลังที่โจทก์ร่วมครอบครองที่ดินพิพาทจึงมีเจตนาบุกรุกนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2534ซึ่งเป็นวันที่กรมที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านในปัญหาข้อนี้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า เมื่อโจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่กรมที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองทราบว่าโจทก์ร่วมได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาท แต่ยังเข้าไปถากถางที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขอันเป็นความผิดตามฟ้องนั้นข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยถามค้านว่าโจทก์ร่วมไม่เคยเข้าไปทำกินในที่ดินพิพาทซึ่งได้รับการจัดสรรเห็นว่าโจทก์ร่วมได้ซื้อที่ดินพิพาทจากกรมที่ดินตั้งแต่วันที่ 11ตุลาคม 2534 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเท่านั้นเมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาท ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใดปรากฎว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แสดงความเป็นเจ้าของโดยทำเป็นหนังสือคัดค้านการนำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และขายให้แก่ผู้อื่นตามเอกสารหมายล.2 และล.3 เช่นนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share