แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ทอดตลาดได้เคาะไม้ในการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย ตามคำสั่งศาลแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สู้ราคาแล้ว แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขายทอดตลาดอยู่จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2537 ทำให้ข้อโต้แย้งดังกล่าวถึงที่สุดทั้งผู้ร้องได้ชำระเงินครบถ้วนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าวเมื่อการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ผู้ทอดตลาดเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิได้ซึ่งผลประโยชน์ในตลาดที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวอันเป็นดอกผลในที่ดิน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจเก็บรวบรวมดอกผลนั้นไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2536 ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13131, 14598, 28198และ 7604 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตลาดชื่อตลาดเกษตรศรีเมืองซึ่งเป็นทรัพย์ของจำเลยจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดราชบุรีในคดีแพ่งของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 14830/2527 ในราคา61,000,000 บาท เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533 แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2537ผู้ร้องทั้งสามได้ชำระราคาและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ในระหว่างพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ผู้คัดค้านได้มีหนังสือขอให้สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดราชบุรีจัดเก็บผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดเกษตรศรีเมืองและสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดราชบุรีได้เก็บผลประโยชน์ดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2537และผู้ร้องทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดราชบุรีจัดเก็บไว้เพราะการซื้อทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้องทั้งสามมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่มีการเคาะไม้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533 ผลประโยชน์ที่จัดเก็บไว้เป็นดอกผลและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสาม แต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อ ดอกผลยังคงเป็นของเจ้าของเดิม ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามเห็นว่าคำสั่งของผู้คัดค้านไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่เป็นการซื้อขายปกติธรรมดาทั่วไปแต่เป็นการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456ผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์ที่ผู้ร้องทั้งสามซื้อได้ ย่อมตกเป็นสิทธิของผู้ร้องทั้งสามในฐานะดอกผลของทรัพย์นั้นผลประโยชน์ที่ผู้คัดค้านจัดเก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2534 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2537 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่ผู้ร้องทั้งสามแล้ว จึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องทั้งสามขอให้กลับคำสั่งของผู้คัดค้านและมีคำสั่งใหม่ให้คืนผลประโยชน์ที่ผู้คัดค้านเก็บไว้แก่ผู้ร้องทั้งสาม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดราชบุรีในคดีแพ่งของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 14830/2527 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533ในราคา 61,000,000 บาท แต่จำเลยร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลย ในระหว่างพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด จำเลยได้ขึ้นค่าเช่าตลาดเกษตรศรีเมือง ผู้ร้องทั้งสามและผู้รับจำนองขอให้ผู้คัดค้านเข้าควบคุมจัดเก็บผลประโยชน์ต่าง ๆ ในตลาดเกษตรศรีเมืองเพื่อรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลย ผู้คัดค้านได้ดำเนินการจัดเก็บผลประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2535 จนถึงวันที่1 เมษายน 2537 ซึ่งเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามได้เป็นเงิน 6,660,962 บาท ผู้ร้องทั้งสามเพิ่งจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ระหว่างที่ผู้คัดค้านจัดเก็บผลประโยชน์ในตลาดเกษตรศรีเมือง ผู้ร้องทั้งสามยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างผลประโยชน์ต่าง ๆอันเกิดมีขึ้นในตลาดเกษตรศรีเมืองภายหลังวันขายทอดตลาดซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินทั้งสี่แปลง จึงต้องตกได้แก่เจ้าของทรัพย์ คือ กองทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องทั้งสามหามีสิทธิได้รับเงินค่าผลประโยชน์ต่าง ๆ อันเกิดมีขึ้นภายหลังวันขายทอดตลาดไม่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13131,14598, 28198 และ 7604 ตำบลหน้าเมือง (ดอนตะโก)อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตลาดชื่อตลาดเกษตรศรีเมือง อันเป็นทรัพย์ของจำเลยได้จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 14830/2527เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533 แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2537 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลยผู้ร้องทั้งสามจึงได้ชำระราคาครบถ้วน และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 ในระหว่างศาลพิจารณาคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดของจำเลย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ผู้คัดค้านได้มีหนังสือขอให้สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดราชบุรีจัดเก็บผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดเกษตรศรีเมือง ซึ่งระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2535 ถึงวันที่1 เมษายน 2537 จัดเก็บเงินได้จำนวน 6,660,962 บาท มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสามว่า ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ดังกล่าวหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสามฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งสามซื้อทรัพย์ของจำเลยได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตกลงด้วยการเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ร้องทั้งสามแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533 การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสามจึงบริบูรณ์ตั้งแต่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการขายทอดตลาดแม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 509 เท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 515ได้บัญญัติให้ผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อการซื้อขายบริบูรณ์ และในมาตรา 516 ยังได้บัญญัติต่อไปว่าถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา ก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดซ้ำอีก หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาดแต่หากขายได้เงินจำนวนสุทธิสูงกว่าที่ผู้สู้ราคาเดิมได้ให้ราคาไว้ในชั้นเดิม ก็หาได้มีบทบัญญัติให้ต้องคืนเงินส่วนที่สูงกว่าดังกล่าวแก่ผู้สู้ราคาเดิมไม่ ฉะนั้นแม้คดีนี้ได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดได้เคาะไม้ในการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแก่ผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาแล้ว แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขายทอดตลาดอยู่ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2537 ทำให้ข้อโต้แย้งดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งผู้ร้องทั้งสามได้ชำระเงินครบถ้วนเมื่อวันที่1 เมษายน 2537 การขายทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันดังกล่าวเมื่อการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ร้องทั้งสามเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิได้ซึ่งผลประโยชน์อันเป็นดอกผลในที่ดินดังกล่าวผู้คัดค้านจึงมีอำนาจเก็บรวบรวมไว้ในกองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลายได้ ผู้ร้องทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์นั้นที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน