คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของนิยามคำว่า “ผู้ขนส่งอื่น” ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นเพราะการออกใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ผูกพันจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวการ เท่ากับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลช่วงจากกรุงเทพมหานครไปสิงคโปร์ และการที่จำเลยที่ 3 ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าลงเรือของจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้านั้นต่อไปยังท่าปลายทาง เป็นการที่ผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 4 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตามคำนิยามใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ด้วย เมื่อสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น โดยมิใช่ความผิดของผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งอื่น จึงต้องร่วมกันรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวต่อผู้รับโอนใบตราส่ง ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 และมาตรา 43 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 และมาตรา 45
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับผู้ส่งของโดยตรงในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อผู้ส่งของโดยผลของกฎหมายคือ ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับโอนใบตราส่งโดยลำพังตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 และเมื่อจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อผู้รับโอนใบตราส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินฐานผิดสัญญารับขนของทางทะเลจำนวน ๘๘๓,๓๕๓.๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๘๒๕,๓๕๒.๗๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้รับจัดการขนส่ง (Freight Forwarder) จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยประกอบกิจการขนส่งทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ หากแต่เป็นเพียงตัวแทนเรือ ไม่ได้เกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้า จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่เพียงตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้ผู้ส่งสินค้านำสินค้าบรรจุเข้าตู้และลงชื่อในใบตราส่งแทนจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นและไม่ได้ร่วมขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยที่ ๔ ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ส่งสินค้าหรือผู้รับตราส่ง ตลอดจนไม่ได้ทำสัญญารับขนกับผู้ส่งสินค้าเพราะคู่สัญญารับขนในคดีนี้คือจำเลยที่ ๑ กับบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด จำเลยที่ ๑ มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ทำการขนส่งต่อไปอีกทอด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าของเล่นสุนัขไว้จากบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งซึ่งว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากกรุงเทพมหานครไปส่งมอบให้แก่ผู้รับสินค้าที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในระบบ ซีเอฟเอส/ซีวาย (CFS/CY (Container Freight Station / Container Yard)) ซึ่งหมายถึงผู้ส่งสินค้านำสินค้าไปมอบให้ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งจะเป็นผู้นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อถึงท่าเรือปลายทางผู้รับสินค้าจะเป็นผู้นำตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือไปเปิดเอง โดยจำเลยที่ ๑ ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง บริษัทวิลเฮล์ม นูมัน จีเอ็มบีเอช จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ ๑ ได้นำเรือลาลาซาร์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๓ บรรทุกสินค้าของเล่นสุนัขดังกล่าวจากกรุงเทพมหานครในระบบแอลซีแอล/เอฟซีแอล (LCL/FCL (Less than Container Load / Full Container Load)) หมายถึง จำเลยที่ ๑ นำของเข้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ไม่เต็มตู้หรือมิใช่การเช่าเหมาทั้งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าดังกล่าวได้ถูกถ่ายลงเรือของจำเลยที่ ๔ ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อถึงท่าเรือปลายทาง ปรากฏว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเนื่องจากเปียกน้ำ เป็นเชื้อราและอ่อนนิ่ม ไม่สามารถใช้เป็นประโยชน์ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งตามคำฟ้องต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งของ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้ขนส่ง สำหรับจำเลยที่ ๒ แม้จะเป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสี่นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ ๒ ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๓ ซึ่งอยู่ที่ไต้หวันและเป็นเจ้าของเรือลาลาซาร์ที่ขนส่งสินค้าของเล่นสุนัขตามคำฟ้องจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองท่าสิงคโปร์ จำเลยที่ ๒ จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของนิยามคำว่า “ผู้ขนส่งอื่น” ในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นตัวการถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งอื่น เพราะการออกใบตราส่งของจำเลยที่ ๒ ผูกพันจำเลยที่ ๓ ผู้เป็นตัวการ เท่ากับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่ง ให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลช่วงจากกรุงเทพมหานครไปเมืองท่าสิงคโปร์ และการที่จำเลยที่ ๓ ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าตามคำฟ้องลงเรือของจำเลยที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๔ ขนส่งสินค้านั้นต่อไปยังท่าปลายทางที่เมืองฮัมบูร์กนั้น เป็นการที่ผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ ๔ จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตามคำนิยามใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ ด้วย ปัญหาว่าสินค้าของเล่นสุนัขตามคำฟ้องได้รับความเสียหายระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่ง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งของนำสินค้าที่ขนส่งมาส่งมอบให้จำเลยที่ ๑ นั้น สภาพสินค้าเป็นปกติเรียบร้อยทุกประการ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ต่อไปว่า สินค้าของเล่นสุนัขตามคำฟ้องได้รับความเสียหายระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งและจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ผู้ขนส่งอื่น โดยมิใช่ความผิดของผู้ส่งของ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้ขนส่งอื่นจึงต้องร่วมกันรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวต่อบริษัทวิลเฮล์ม นูมัน จีเอ็มบีเอช จำกัด ผู้รับโอนใบตราส่งสินค้าดังกล่าวจากบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งสินค้านั้น ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๙ และ ๔๓ มาตรา ๔๔ ประกอบมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๕
ปัญหาว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในฐานะตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๔ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญากับผู้ส่งของโดยตรงในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๓ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อผู้ส่งของโดยผลของกฎหมายคือตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๔ ประกอบมาตรา ๓๙ จำเลยที่ ๒ ในฐานะตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับโอนใบตราส่งโดยลำพังตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๔ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ ๒ มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นและไม่ต้องรับผิดในฐานะตัวแทนโดยลำพังตนเองดังได้วินิจฉัยแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ต่อผู้รับโอนใบตราส่ง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งดังกล่าวได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทวิลเฮล์ม นูมัน จีเอ็มบีเอช จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับโอนใบตราส่งสินค้าดังกล่าวจากบริษัทไทยเกรท โปรดักส์ จำกัด ผู้ขายสินค้านั้นและเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทวิลเฮล์ม นูมัน จีเอ็มบีเอช จำกัด มาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งตามคำฟ้องแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน ๗๐๗,๓๘๗.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จนกว่าจะชำระเสร็จ คงให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ และให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๖,๐๐๐ บาท.

Share