คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ให้ ผ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้จำเลยที่ 1 จะหลอกลวงกลฉ้อฉลโจทก์และ ผ. จนโจทก์และ ผ. ตกลงทำสัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ และโจทก์บอกล้างแล้วก็ตามแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน การที่ภายหลังโจทก์ไปขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในขณะที่ยังไม่ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามสัญญา และจำเลยที่ 2ไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอน โจทก์ก็ไม่อาจยกเอาเหตุกลฉ้อฉลต่อโจทก์และ ผ. อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและได้ที่ดินพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้โอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 605ตำบลลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่โจทก์ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โดยโจทก์ให้ผู้อื่นมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนตลอดมา จนวันที่ 25 สิงหาคม 2531 ก็มีชื่อนางเผื่อน ชูศรี เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 ได้มีการจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2534จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 4,301,000 บาท มีกำหนด 1 ปีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 บอกเลิกการซื้อขายที่ดินและให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทคืนในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1460/2536 ของศาลชั้นต้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปได้ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคำเบิกความของโจทก์ตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทแล้วได้ถมที่ดินพร้อมขึ้นป้ายชื่อว่า โครงการธำรงนิเวศน์เพื่อจัดสรรขายแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1มิได้หลอกลวงโจทก์ เป็นการไม่ชอบ เพราะตามข้อเท็จจริงจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคา 9,000,000 บาท แต่ชำระให้โจทก์เพียง 1,200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายหลังและตกลงให้กรรมสิทธิ์โอนเมื่อชำระเงินเสร็จ แต่ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารในราคา 700,000 บาท แล้วต่อมาอีกประมาณ3 เดือน จำเลยที่ 1 ก็นำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 2 ในราคา 4,301,000 บาท เท่านั้น อันจะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์เป็นเงินถึง 2,401,000 บาท โดยไม่ต้องเข้าครอบครองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงแสดงเจตนาหลอกลวงโจทก์ การซื้อขายไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะเมื่อโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 บอกเลิกการซื้อขายที่ดินแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2ไม่ได้ สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไม่ชอบ เพราะการบอกล้างโมฆียะกรรมใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยไม่สุจริต สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันจนในที่สุดนางเผื่อนได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นการตกลงทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกันระหว่างโจทก์ นางเผื่อนและจำเลยที่ 1 เท่านั้นส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทกันระหว่างโจทก์นางเผื่อนและจำเลยที่ 1 จะเป็นไปโดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์และนางเผื่อนหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะแม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์และนางเผื่อน จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองหลงเชื่อตกลงขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะได้ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ผลแห่งการหลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 บัญญัติว่า “การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต” และมาตรา 1329 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง” ดังนั้น ถึงแม้โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมทำให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ตกเป็นโมฆะ ซึ่งคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ก็หามีสิทธิยกขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ไม่ เว้นแต่จำเลยที่ 2 ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์และนางเผื่อนนั้นด้วยแล้ว ยังคงรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 อีก การที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์นางเผื่อน และจำเลยที่ 1 ให้ตกเป็นโมฆะในกรณีเช่นนี้จึงจะมีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่าก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 2 ซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์แต่อย่างใด โจทก์คงเบิกความแต่เพียงว่า ก่อนมีการขายฝาก มีคนมาดูที่ดินพิพาทโจทก์สอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนให้มาดู โจทก์จึงบอกว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ยังชำระเงินไม่หมดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการเบิกความลอย ๆ โดยนายเต็มชัย รอดเรืองรุ่ง พยานจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า วันไปดูที่ดินพิพาทไม่พบโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาท ประกอบกับโจทก์ได้เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกการซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ และยังเบิกความอีกด้วยว่าจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นข้อตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 2รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นถึงการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพราะตามโฉนดที่ดินพิพาทก็มิได้มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าที่ดินพิพาทมีราคาถึง 9,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 กลับรับซื้อฝากไว้เพียง 4,301,000 บาท โดยไม่ได้ตรวจดูว่าราคาท้องตลาดเป็นเท่าใดนั้น ถึงหากจะฟังได้ดังที่โจทก์อ้างก็หาเป็นพิรุธไม่ เพราะราคารับซื้อฝากที่ดินหาจำเป็นต้องซื้อขายกันเต็มราคาท้องตลาดไม่ เนื่องจากผู้ขายฝากก็ต้องคำนึงถึงความสามารถของตนเองที่จะซื้อคืนในภายหลังด้วย และนางสนิท พูนเป้า พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งรับราชการในสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาลำปลายมาศ ก็ได้เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าปกติการรับซื้อขายฝากที่ดินจะรับซื้อต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงตามท้องตลาด ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 4,301,000 บาท จึงไม่เป็นพิรุธให้เห็นว่าจำเลยที่ 2ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์แต่อย่างใด จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แม้ภายหลังโจทก์ไปขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในขณะที่ยังไม่ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามสัญญา จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอน โจทก์ก็ไม่อาจยกเอาเหตุที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเป็นกลฉ้อฉลต่อโจทก์ซื้อที่ดินจากโจทก์อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและได้ที่ดินพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share