คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 กำหนดสินค้าต้องห้ามคือ เครื่องเล่นเกม ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใด ทั้งที่เป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์หรือแต่บางส่วน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทย่อย 9504.30 , 9504.901 และ 9504.909 ของประเภท 95.04 ซึ่งโดยสภาพจะใช้เล่นอันจะทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าด้วยการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์เป็นสินค้าในพิกัดที่ 95.04 เมื่อมีลักษณะการทำงานให้ผู้เล่นหยอดเหรียญ แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นผู้เล่นจะยกตัวคีบตุ๊กตาไปคีบตุ๊กตา หากคีบได้จะได้ตุ๊กตา หากคีบไม่ได้จะเสียเงิน 10 บาทให้เจ้าของตู้ เครื่องเล่นของโจทก์จึงเพื่อประสงค์จะเล่นให้ได้ตุ๊กตาในตู้เท่านั้น การเล่นเพิ่มให้ได้ตุ๊กตาจึงเป็นการเล่นเพียงให้เกิดผลแพ้ชนะได้ ถือได้ว่าเจ้าของเครื่องเป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง เครื่องคีบตุ๊กตาจึงเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์ไม่ใช่สินค้าต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 และให้จำเลยส่งมอบเครื่องคีบตุ๊กตาจำนวน 43 เครื่อง คืนให้แก่โจทก์ โดยแบ่งเป็นรุ่น WMF 118 จำนวน 35 เครื่อง รุ่น WMF 202 (MINI) จำนวน 6 เครื่อง และรุ่น Rotary Star จำนวน 2 เครื่อง ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนให้ไม่ได้หรือส่งมอบคืนในสภาพชำรุดบกพร่องให้จำเลยชดใช้เป็นเงินแทนในราคาเครื่องคีบตุ๊กตาเครื่องละ 40,000 บาท รวม 43 เครื่อง เป็นเงิน 1,720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 จำนวน 27 เครื่อง (1,080,000 บาท) จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 99,234 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวน 16 เครื่อง (640,000 บาท) จนถึงวันฟ้องเป็นค่าดอกเบี้ยจำนวน 33,967 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,853,201 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง… คดีขาดอายุความแล้ว… ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องคีบตุ๊กตา จำนวน 43 เครื่อง ที่ถูกเจ้าพนักงานของจำเลยยึดไว้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า เครื่องคีบตุ๊กตาดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 หรือไม่ ตามประกาศฉบับดังกล่าวกำหนดสินค้าต้องห้ามมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ในข้อ 4 ซึ่งระบุว่า สินค้าที่ต้องห้ามดังกล่าวคือ เครื่องเล่นเกม ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใด ทั้งที่เป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือแต่บางส่วน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทย่อย 9504.30 , 9504.901 และ 9504.909 ของประเภท 95.04 ซึ่งโดยสภาพของเครื่องสามารถจะใช้เล่นด้วยวิธีใด ๆ อันจะทำให้แพ้ชนะกันโดยไม่ว่าด้วยการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์มีวิธีการเล่นโดยการหยอดเหรียญ 10 บาท ลงไปช่องหยอดเหรียญ หลังจากนั้นผู้เล่นจะต้องกดปุ่มเพื่อให้เครื่องทำการคนตุ๊กตาที่อยู่ภายในตู้ แล้วผู้เล่นจะใช้เครื่องคีบตุ๊กตาโดยมีคันโยกให้เครื่องคีบค้นหาตุ๊กตาตัวที่ต้องการ หากสามารถคีบได้ ผู้เล่นจะได้ตุ๊กตาไป หากคีบไม่ได้เครื่องจะให้คูปอง 1 ใบ สะสมไว้แลกของสมนาคุณจากทางร้าน ดังนั้น จากลักษณะของเครื่องดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าเครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์เป็นสินค้าประเภทเครื่องเล่นเกมที่ใช้เครื่องกล หรือพลังงานไฟฟ้าในการทำงาน สินค้าดังกล่าวจึงเป็นสินค้าในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภท 95.04 พิกัดย่อยที่ 9504.30 ตามที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าวข้างต้น ปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า เครื่องคีบตุ๊กตาดังกล่าวสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการเล่นเครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์ ผู้เล่นจะต้องหยอดเหรียญ 10 บาท ลงไปแล้วกดปุ่มให้เครื่องทำการคนตุ๊กตาในตู้ หลังจากนั้นผู้เล่นจะโยกตัวคีบตุ๊กตาให้ตรงกับตุ๊กตาตัวที่ตนต้องการแล้วปล่อยตัวคีบลงไปคีบ หากคีบได้จะได้ตุ๊กตาตัวดังกล่าวไป หากไม่ได้ก็จะเสียเงินจำนวน 10 บาท ให้แก่เจ้าของเครื่องไป เห็นว่า ในการเล่นเครื่องเล่นของโจทก์นั้น ผู้เล่นประสงค์ที่จะเล่นเพื่อให้ได้ตุ๊กตาที่อยู่ในตู้ไปเท่านั้น การกดปุ่มในการคนตุ๊กตาในตู้เป็นเพียงการกดปุ่มให้ตู้เครื่องเล่นทำงานโดยตัวของเครื่องเอง เมื่อเครื่องทำการคนตุ๊กตาแล้ว ผู้เล่นก็จะโยกตัวคีบลงไปคีบตุ๊กตาขึ้นมา การเล่นดังกล่าวผู้เล่นไม่ได้ประสงค์จะเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเล่นเพื่อให้เกิดทักษะเพิ่มขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่จุดประสงค์ส่วนใหญ่เป็นเพียงเพื่อให้ได้ตุ๊กตาที่อยู่ในตู้มาเท่านั้น การเล่นเพื่อให้ได้ตุ๊กตาดังกล่าวมา จึงเป็นการเล่นเพื่อให้เกิดผลแพ้ชนะได้ เมื่อผู้เล่นคีบตุ๊กตาในเครื่องมา ถือว่าเป็นการชนะแก่เจ้าของเครื่อง จะได้ตุ๊กตาของเจ้าของเครื่องเล่นมาเป็นรางวัล หากคีบไม่ได้ ถือว่าเป็นการแพ้แก่เจ้าของเครื่อง เจ้าของเครื่องก็จะได้เงินจำนวน 10 บาท จากผู้เล่นไป ในกรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่าเจ้าของเครื่องเป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่มีผู้เล่นฝ่ายเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์จึงเป็นเครื่องเล่นเกมที่สามารถทำให้เกิดผลแพ้ชนะได้ ดังนั้น เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์จึงเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจยึดเครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์ไป เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว การที่เจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจค้นและยึดเครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์ไป จึงเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด และเมื่อไม่เป็นการกระทำละเมิดแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายและเรื่องอายุความ ตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนจำเลย.

Share