คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้าย พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 22 กำหนดให้ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวกันมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้… (6) พิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกิน 40,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท… และวรรคท้าย กำหนดให้ ในคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีแต่เพียงอำนาจพิจารณา ไม่มีอำนาจพิพากษา ตาม …(6) เมื่อจะพิพากษาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เป็นองค์คณะด้วย คดีนี้มีจำนวนเงินที่ฟ้อง 98,825 บาท ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีเพียงอำนาจพิจารณา แต่ไม่มีอำนาจพิพากษา แม้ต่อมาได้มี พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ยกเลิก พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้าย พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตาม พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 25(4) กำหนดให้ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท ก็ตาม แต่พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะถึงที่สุด คดีนี้จึงต้องบังคับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คือ จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย การที่คดีนี้ในศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในคำพิพากษา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (เดิม) มาตรา 22 (6) และวรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง โดยให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๙๘,๘๒๕ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายน้ำประปาและกระแส ไฟฟ้าให้แก่บ้านของโจทก์ และยอมให้โจทก์นำผู้รับจ้างเข้าไปซ่อมแซมบ้านหลังดังกล่าวจนแล้วเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สัปดาห์ละ ๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะซ่อมแซมหลังคาบ้านเสร็จเรียบร้อย
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านของโจทก์ และ ยอมรับให้โจทก์นำผู้รับจ้างของโจทก์เข้าไปในโครงการบ้านเขาใหญ่เพื่อซ่อมแซมบ้านหลังดังกล่าวจนแล้วเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะค่าทนายความให้โจทก์จำนวน ๓,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้ เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๓ ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา ๒๒ กำหนดให้ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้ … (๖) พิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกิน ๔๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐๐,๐๐๐ บาท… และวรรคท้าย กำหนดให้ ในคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีแต่เพียงอำนาจพิจารณา ไม่มีอำนาจพิพากษาตาม… (๖) เมื่อจะพิพากษาคดี จะต้องมีผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย คดีนี้มีจำนวนเงินที่ฟ้อง ๙๘,๘๒๕ บาท ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีเพียงอำนาจพิจารณา แต่ไม่มีอำนาจพิพากษาคดีนี้ แม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ยกเลิกพระราชบัญญัติให้ใช้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๔๗๗ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็น พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๕ (๔) กำหนดให้ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๕ วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” คดีนี้จึงต้องบังคับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คือ จะต้องให้ผู้พิพากษา อีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย ดังนั้นการที่คดีนี้ในศาลชั้นต้นมี ผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในคำพิพากษา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (เดิม) มาตรา ๒๒ (๖) และวรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มิได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ศาลฎีกา จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และ มาตรา ๒๔๗ และกรณียังไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง ให้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share