คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะกำหนดว่าพนักงานและลูกจ้างผู้ใดดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่โจทก์ออกไปดื่มสุราเพียงเล็กน้อยนอกที่ทำการในขณะใกล้หมดเวลาการทำงานแล้ว เหลือเพียงแต่รอเวลาทำหน้าที่กรรมการปิดตู้นิรภัยเท่านั้น ไม่มีอาการมึนเมาสุรา โจทก์มิได้กล่าวคำขู่อาฆาตผู้บังคับบัญชาเพียงแต่โต้เถียงกันเล็กน้อย ทั้งโจทก์ยังสามารถกลับมาร่วมปิดตู้นิรภัยได้โดยไม่ได้ทำให้งานในหน้าที่เสียหาย ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำผิดใดจะถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป หาใช่เมื่อดื่มสุราแล้วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดร้ายแรงทันที การกระทำผิดของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 69 ซึ่งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตัดเงินค่าจ้าง ลดขั้นเงินเดือนหรือลดค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมแก่ความผิดเท่านั้น ไม่มีกรณีต้องให้ออกจากงาน การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโดยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราเดิมนั้น แม้โจทก์จะกระทำความผิดและการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นตามคำสั่งที่ 5173/2545 จะชอบด้วยข้อบังคับข้อ 69 แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 51238/2545 ให้ยกเลิกโทษตามคำสั่งที่ 5173/2545 ไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ยังมิได้ถูกลงโทษสำหรับความผิดที่โจทก์กระทำ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่จ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายและให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้าง และให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากศาลเห็นว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่อาจร่วมงานกันได้ก็ขอให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 111,300 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37,100 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 18,323,649 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างอัตราไม่ต่ำกว่าเดิมโดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2545 จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่โจทก์ดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นความผิดอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 3 ว่าด้วยการบรรจุแต่งตั้ง ฯลฯ พ.ศ.2520 ข้อ 64 จะกำหนดว่าพนักงานและลูกจ้างผู้ใดดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมีว่า โจทก์ออกไปดื่มสุราเพียงเล็กน้อยนอกที่ทำการในขณะที่ใกล้หมดเวลาการทำงานของโจทก์แล้ว เหลือแต่เพียงรอเวลาทำหน้าที่กรรมการปิดตู้นิรภัยเท่านั้น ไม่มีอาการมึนเมาสุรา โจทก์มิได้กล่าวคำขู่อาฆาตผู้บังคับบัญชา เพียงแต่โต้เถียงกันเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งโจทก์ยังสามารถกลับมาร่วมปิดตู้นิรภัยได้โดยไม่ได้ทำให้งานในหน้าที่เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งการจะพิจารณาว่าการกระทำผิดใดจะถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อดื่มสุราแล้วถึงแม้จะดื่มเพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดร้ายแรงทันที การกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง ดังนั้น การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 69 ที่กำหนดว่า พนักงานและลูกจ้างผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตัดเงินค่าจ้าง ลดขั้นเงินเดือนหรือลดค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมแก่ความผิดเท่านั้น ไม่มีกรณีต้องให้ออกจากงานแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโดยให้โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราเท่าเดิมและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะกระทำความผิด และการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 จะชอบด้วยข้อบังคับข้อ 69 แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 51238/2545 ให้ยกเลิกโทษตามคำสั่งที่ 5173/2545 ไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ยังมิได้ถูกลงโทษสำหรับความผิดที่โจทก์กระทำ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่จ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ได้อีก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share