คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8568/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และมีหนังสือยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินทดแทนแทนโจทก์ การที่จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาปฏิเสธการจ่ายเงิน ส. ผู้ทำการแทนนายจ้างอุทธรณ์คำสั่ง ดังนี้ แม้จำเลยจะได้แจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไปยังผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 แต่เมื่อหนังสือยินยอมที่โจทก์มีถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์เพียงแต่ยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภารับเงินทดแทนได้โดยตรงจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใด ๆ ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน การแจ้งของจำเลยทั้งสองครั้งจึงไม่มีผลต่อโจทก์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์อ้างว่าปวดบริเวณเอวเป็นอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยมีเหตุเนื่องมาจากโจทก์ทำหน้าที่ตรวจสอบและวัดขนาดคุรุภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากให้แก่นายจ้าง ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตราย มิใช่ขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเจ็บป่วย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 14 ที่การเจ็บป่วยของลูกจ้างที่สามารถรับเงินทดแทนได้จะต้องเกิดจากโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
การที่ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักระหว่างคำเบิกความของ ป. ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อผู้ตรวจรักษาโจทก์กับคำเบิกความของ ธ. ซึ่งเป็นอนุกรรมการการแพทย์คนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งแล้ววินิจฉัยว่า คำเบิกความของ ป. น่าจะรับฟังมากกว่าและเชื่อตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ประสบอันตรายจากการทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ประสบอันตรายจากการทำงานนั่นเอง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัย 86/2545 ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทน 26,497.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ 86/2545 ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนของจำเลย ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน 26,497.66 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และมีหนังสือยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินแทนโจทก์ จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาปฏิเสธการจ่ายเงินนายสุชาติผู้ทำการแทนนายจ้างอุทธรณ์คำสั่ง แม้จำเลยได้แจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไปยังผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาโดยหนังสือแจ้งไปถึงที่ทำการขององค์การค้าของคุรุสภาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ผู้อำนวยการกองทุนเงินทดแทนแจ้งผลคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาด้วย แต่เมื่อหนังสือยินยอมที่โจทก์มีถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์เพียงแต่ยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์รับเงินทดแทนได้โดยตรงจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใด ๆ ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ดังนั้น การแจ้งของจำเลยทั้งสองครั้งจึงไม่มีผลต่อโจทก์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 ดังจำเลยอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า การเจ็บป่วยของลูกจ้างที่สามารถรับเงินทดแทนได้จะต้องเกิดขึ้นจากโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 อีกทั้งไม่มีเหตุใดมาแทรกแซง ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนของโจทก์ต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์อ้างว่าโจทก์ปวดบริเวณเอวเป็นอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยอาการปวดและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดังกล่าวมีเหตุจากโจทก์ทำหน้าที่ตรวจสอบและวัดขนาดคุรุภัณฑ์ซึ่งจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากให้แก่นายจ้าง ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตราย มิใช่ขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเจ็บป่วย ดังนั้น เหตุแห่งการประสบอันตรายจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 14 ดังที่จำเลยอ้าง
จำเลยอุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลแรงงานกลางฟังตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายประสิทธิ์ซึ่งมิได้ยืนยันอย่างชัดเจนถึงอาการเจ็บป่วยของโจทก์ ส่วนการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการการแพทย์เป็นการวินิจฉัยไปตามหลักวิชาการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการวินิจฉัยข้อนี้ของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักระหว่างคำเบิกความของนายประสิทธิ์ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อผู้ตรวจรักษาโจทก์และให้ความเห็นประกอบเวชระเบียบฝ่ายหนึ่ง กับคำเบิกความของนาวาอากาศเอกธนาซึ่งเป็นอนุกรรมการการแพทย์คนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งแล้ววินิจฉัยว่า คำเบิกความของนายประสิทธิ์น่ารับฟังมากกว่าและเชื่อตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ประสบอันตรายจากการทำงาน อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ประสบอันตรายจากการทำงานนั่นเอง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share