แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้จดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน ซึ่งการแปรสภาพเพียงทำให้โจทก์หมดสภาพการเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่สถานะนิติบุคคลของโจทก์มิได้สิ้นไป บริษัทมหาชนของโจทก์จึงรับไปซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีต่อจากเดิมได้ ต้องถือว่าโจทก์ในคดีก่อนและในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัทเหมืองบ้านปู” จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)” มีผู้มีชื่อ2 คน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายจักรกฤษณ์ สนิทพ่วง ฟ้องคดี จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์รับขนทรายโดยโจทก์ตกลงจะจัดสร้างท่าทรายและระบบสายพานลำเลียงทรายจากยุ้งเหล็กลงเรือ ณ ท่าทราย จังหวัดอ่างทองและจำเลยที่ 1 จะให้ค่าบำเหน็จเพื่อการรับขนทรายแก่โจทก์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1แก่โจทก์ เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ได้จัดสร้างท่าทรายและระบบสายพานลำเลียงทราย และทำการขนทรายให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าขนทรายให้โจทก์บางส่วน โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าขนทรายส่วนที่ยังค้างชำระและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน จำเลยทั้งสามทราบแล้วเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าขนทรายที่ยังค้างชำระเป็นเงิน 1,350,000 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์จัดสร้างท่าขนทรายและระบบสายพานลำเลียงทรายอีก 700,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหาย 2,050,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,050,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10494/2537 ของศาลชั้นต้นเพราะโจทก์คดีนี้กับโจทก์คดีดังกล่าวเป็นนิติบุคคลเดียวกันได้ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยมูลหนี้อย่างเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นส่วนตัวโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ได้รับความเสียหาย สัญญาว่าจ้างโจทก์กระทำโดยผู้ไม่มีอำนาจจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามหนังสือค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไม่เกิน 1,000,000 บาทจึงไม่ต้องรับผิดตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 เพราะไม่มีข้อตกลงไว้ในหนังสือค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10494/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่าบริษัทเหมืองบางปู จำกัด โจทก์ในคดีก่อนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนบริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดพ.ศ. 2525 จึงเป็นนิติบุคคลต่างคนกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ศาลชั้นต้นเห็นว่าหากได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นจะทำให้คดีเสร็จไป จึงงดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์คดีก่อนมีฐานะเป็นบริษัทจำกัดส่วนโจทก์คดีนี้มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงถือว่าเป็นบุคคลเดียวกัน เพียงแต่แปรสภาพจากนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น เมื่อตามฟ้องคดีก่อนและฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยรายเดียวกันในเรื่องเดียวกันโดยคดีเรื่องก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) (ที่ถูกเป็นมาตรา 173 วรรคสอง (1)) จึงให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานในสำนวนได้ความว่าในคดีก่อนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2536 บริษัทเหมืองบ้านปู จำกัดได้ฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10494/2537 โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ในระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยทั้งสามคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2คดีนี้ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 ในขณะที่คดีก่อนที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ บริษัทบ้านปู จำกัด(มหาชน) ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในเรื่องเดียวกันกับฟ้องคดีก่อนเป็นคดีนี้ โดยบรรยายฟ้องว่าเดิมโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัทเหมืองบ้านปู จำกัด”ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดใช้ชื่อว่า “บริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชน)”ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัดพ.ศ. 2535 แล้วตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีก่อนตามสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โดยนายทะเบียนได้บันทึกหมายเหตุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 4บัญญัติคำนิยามของ “บริษัทเอกชน” ว่าหมายถึง บริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ตามคำฟ้องคดีก่อนโจทก์ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงมีลักษณะเป็น “บริษัทเอกชน” ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนแปรสภาพบริษัทเอกชนเป็นบริษัทมหาชนตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดพ.ศ. 2535 โดยนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแปรสภาพให้แล้วแม้มาตรา 184 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติว่า”เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทตามพระราชบัญญัติแล้ว ให้บริษัทเอกชนเดิมหมดสภาพเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้นายทะเบียนหมายเหตุไว้ในทะเบียน” ก็ตาม แต่มาตรา 185 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเอกชนเดิมทั้งหมด” แสดงว่า การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนของโจทก์เพียงทำให้โจทก์หมดสภาพการเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่สถานะนิติบุคคลของโจทก์มิได้สิ้นไป บริษัทมหาชนของโจทก์จึงรับไปซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีต่อจากเดิมได้ ฉะนั้น ต้องถือว่าโจทก์ในคดีเดิมและในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน