แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมีอาวุธปืนซึ่งไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แต่เห็นว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6 บัญญัติว่า ถ้าผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่อาจขออนุญาตได้ตามกฎหมาย นำปืนมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ต่อมาโจทก์จะฎีกาว่าในขณะที่ศาลฎีกากำลังพิจารณาคดีนี้อยู่ได้เลยกำหนดให้นำอาวุธปืนไปขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตแล้วและจำเลยก็มิได้นำไปขึ้นทะเบียนภายในกำหนด จึงต้องมีความผิดฐานนี้อยู่ ดังนี้ ฟังไม่ขึ้นเพราะเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาถูกต้องตามบทกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาพิพากษาคดีแล้ว แม้จำเลยจะมิได้นำปืนไปขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียไปศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับไว้ ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงบุคคลอื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และจำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288จำเลยที่ 2 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ลดรับสารภาพหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 16 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 6 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่อาจขออนุญาตได้ตามกฎหมายนำปืนไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน ผู้นั้นไม่ต้องได้รับโทษ เมื่อมีพระราชดังกล่าวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่ต้องได้รับโทษ ส่วนข้อหาที่ว่าจำเลยฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อที่น่าสงสัย ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อหาที่ว่าจำเลยฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดดังฟ้อง
ส่วนข้อหาที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่าในขณะที่ศาลฎีกากำลังพิจารณาคดีนี้อยู่ ได้เลยกำหนดเวลา 90 วันตามที่กฎหมายได้กำหนดให้ผู้มีอาวุธปืนนำไปขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตแล้ว และจำเลยมิได้นำอาวุธปืนดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนภายในกำหนดจำเลยจึงต้องมีความผิดในข้อหาฐานนี้อยู่นั้น ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองได้รับการยกเว้นโทษตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นชอบแล้วดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 889/ 2503 (ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่) ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดตาก โจทก์ นายไม้ คำโต กับพวก จำเลยเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาถูกต้องด้วยตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาพิพากษาคดีแล้ว แม้จำเลยจะมิได้นำปืนไปขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน ก็หาทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นเสียไปไม่ ศาลฎีกาจึงไม่มีอะไรที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถูกต้องนั้น
พิพากษายืน